นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรรค และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรคก้าวไกล พร้อมแกนนำอีก 7 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง ร่วมกันนั่งโต๊ะแถลงการจับมือจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยร่วมกันอย่างเป็นทางการ ดังนี้
- สนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ตามมติเสียงข้างมาก
- ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำ MOU เพื่อแสดงแนวทางและวาระการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ โดยจะแถลงรายละเอียดต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งจะครอบคลุมทุกมิติทั้งการเมือง และปากท้อง เพื่อแก้ไขวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
- ตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านเตรียมความพร้อมบริหารแผ่นดินอย่างไร้รอยต่อ
นายพิธา กล่าวว่า ในขั้นตอนนี้ทุกพรรคยังไม่มีเจรจาเรื่องโควต้ารัฐมนตรี เพราะจะต้องจัดลำดับความสำคัญการทำงานก่อน
"ไม่ได้เน้น กระทรวง เน้นวาระทุกพรรคที่หาเสียงไว้ หากตกผลึกกันได้ เรื่องกระทรวงปลายเหตุ หาสาเหตุ เอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง โครงสร้างเป็นอย่างไร รอให้กระบวนการคลี่คลาย หากเอากระทรวงขึ้นมาเป็นที่ตั้งประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร"
นายพิธา เชื่อมั่นว่าจะได้รับคะแนนโหวตจากสภาฯ สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า "ยืนยันว่าผ่าน"
พร้อมยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรคใหญ่ ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะจับมือกันไม่มีการปล่อยมือกัน ส่วนคดีต่างๆ ของตนที่มีผู้ไปยื่นคำร้องไว้นั้น นายพิธา ยืนยันว่าไม่กังวลแต่คงไม่ประมาท และเข้าใจดีถึงมิติทางการเมือง พร้อมจะยอมรับการตรวจสอบและเตรียมรับผลที่จะเกิดขึ้น
"ถ้าเราไม่มีโรดแมพชัดเจน ไม่มีฉากทัศน์ชัดเจน ก็คงจะกังวล แต่ตอนนี้ไม่กังวล เพราะมีโรดแมพชัดเจน มีคณะกรรมการ มีเป้าหมายชัดเจน ถ้าฉากทัศน์ออกมาเป็นแบบที่เราคาดไม่ถึง แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะเราคาดไว้ก่อนแล้วว่าเกิดกรณีนี้จะทำอย่างไร เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลของเราสำเร็จลุล่วงได้ดี...มั่นใจว่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ด้วยดี" นายพิธา กล่าว
การทำความเข้าใจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นหน้าที่คณะกรรมการ ซึ่งการที่มีกระแสข่าวว่า ส.ว.เริ่มเสียงแตกในการโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของระบบประชาธิปไตยของทุกคน และถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ประชาชนเข้าสู่อำนาจประชาชนสูงสุด
นอกจากน้น กรรมการยังมีหน้าที่พิจารณาหาจำนวนเสียงที่สมดุลในรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นตัวแทนของทุกพรรค มีการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ส่วนจะมีการดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะพิจารณาถึงตัวเลขที่เหมาะสม มีอุดมกรณ์ตรงกันหรือไม่ และต้องดูถึงเสถียรภาพรัฐบาลว่าสามารถทำงานเป็นทีมได้หรือไม่
นายพิธา กล่าวว่า รัฐบาล 313 เสียง ณ วันนี้เป็นความปกติของระบบประชาธิปไตยที่เพียงพอ การที่หาให้ได้ 376 เสียงยังไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญตอนนี้ แต่ก็ยอมรับว่ายังมีหลายฉากทัศน์ที่เราคาดไม่ถึง จึงให้กรอบในการเจรจาหาตัวเลขที่สมดุล เพื่อให้เกิดความแน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และลดความเสี่ยงต่างๆ
"ได้ให้กรอบไว้ว่าต้องอยู่ในระดับที่มีเสถียรภพา และไม่เสียสมดุลในการบริหาร ต้องหาจุดตรงกลาง" นายพิธา กล่าว
สำหรับจุดยืนเรื่องมาตรา 112 นั้น นายพิธา กล่าวว่า ก่อนการเลือกตั้งได้มีการดีเบตเรื่องนี้ในหลายเวที ซึ่งมีความชัดเจนที่แต่ละพรรคได้แสดงจุดยืนไปแล้ว โดยประเด็นนี้ทุกพรรคจะตกผลึกร่วมกัน ไม่มีอะไรน่ากังวลใจ ขอให้รอฟังรายละเอียดในวันที่ 22 พ.ค.นี้
*เพื่อไทย ระบุ ม.112 ไม่ใช่ประเด็นอุปสรรคร่วมตั้งรัฐบาลพร้อมเจรจาก่อนลงใน MOU
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย 141 เสียงพร้อมสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย และร่วมจัดตั้งรัฐบาลให้ได้
แนวทางร่วมรัฐบาลพรรคนำมาประกอบการพิจารณาทั้งหมด โดยไม่ได้เสนอเงื่อนไขใด ๆ ซึ่งทางพรรคก้าวไกลจัดทำร่าง MOU ขั้นตอนนี้แต่ละพรรคไปพิจารณาต่อว่าเรื่องใดรับได้ เรื่องใดควรปรับแก้ และเรื่องใดไม่สามารถไปด้วยกันได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคเสนอเข้ามาด้วย ซึ่งใน MOU จะมีพิจารณาเรื่องมาตรา 112 ด้วย ซึ่งหากลงนาม MOU กันแล้วก็หมายความว่าได้ข้อสรุปแล้วเป็นข้อตกลงที่หาทางออกร่วมกัน
"กลไกลสำคัญสุด คือ บันทึกข้อตกลงร่วมนั้นหลายเรื่องที่เป็นประเด็นที่เราจะเจรจาพูดคุยกัน ซึ่งวันที่ 22 เป็นวันที่บอกว่าจะร่วมมือกันอย่างไรในการจัดตั้งรัฐบาล อะไรที่เป็นเงื่อนไข ข้อจำกัด ที่ต้องพูดคุยกันได้ก็ต้องให้จบ แต่ถ้าไม่จบต้องมีทางออก เช่น ประเด็นที่อ่อนไหว มีความเห็นต่าง ยังไม่มีข้อตกลงร่วม เราก็จะแถลงว่า เรามีกลไกทำเรื่องนั้นได้อย่างไร"นายแพทย์ชลน่าน กล่าว
"ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 112 ที่ต่างฝ่ายมีความเห็นต่างเยอะแยะ ถ้าอะไรเห็นร่วมกันไปได้เลย แต่ถ้ามีประเด็นอะไรที่ต่างเยอะมาก ก็จะยกประเด็นนั้นมาในข้อตกลง จะหาทางออกตรงนั้นได้อย่างไร เพื่อจะร่วมมือกันทำงานในฐานะรัฐบาลของประชาชน แนวทางเป็นแบบนี้ ซึ่งให้ติดตามวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นประเด็นข้อห่วงใย เพื่อไทยก็จะมีคำตอบวันนั้นเช่นเดียวกัน"นายแพทย์ชลน่าน กล่าว
*"ไทยสร้างไทย" ยันนโยบายสำคัญกว่าแบ่งเก้าอี้ หนุนหยุดยั้งใช้กม.รังแกกัน
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หลักการของพรรคเป็นสัญญาประชาคม เราสนับสนุนทุกฝ่ายเดินตามครรลองประชาธิปไตย และยึดหลักการประชาธิปไตย ส่วนข้อตกลงเรื่องนโยบายต่างๆ หลังจากวันนี้จะตั้งคณะทำงานร่วมกัน และยืนยันว่าพวกเรามองเห็นว่าการทำนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนสำคัญกว่าการแบ่งตำแหน่ง แบ่งกระทรวง เราอยากผลักดันสิ่งที่เห็นว่า ประชาชนยากลำบาก อยากให้ประเทศเดินหน้าบนแผนที่แข่งขันโลกให้ได้
ส่วนประเด็นมาตรา 112 พรรคไทยสร้างไทยชัดเจนในทุกเวที หน้าที่พรรคการเมืองทุกพรรคต้องปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ประเด็นผู้มีอำนาจนำกฎหมายมากลั่นแกล้ง ทำร้ายประชาชน ก็ต้องมีการพิจารณาทำให้มาตรา 112 ปกป้องสถาบันได้ แต่ต้องไม่เป็นเครื่องมือของคนมีอำนาจไปทำร้ายคนอื่น ถือเป็นหลักการ ส่วนการลงรายละเอียดแต่ละพรรคอาจแตกต่างกัน รวมถึงปัญหาอื่นๆต้องคุยกันด้วย
*"เสรีรวมไทย" ยันเจตนารมณ์ประชาชนเสียงข้างมากต้องเป็นนายกฯ
พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยืนยันว่า ตามเจตนารมย์ประชาชนพรรคเสียงข้างมากจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเสรีรวมไทยพร้อมสนับสนุนนายพิธา ส่วนประเด็นอื่นยังไม่ถึงเวลาตอบคำถาม และแม้จะจัดตั้งรัฐบาลกันแล้วต้องทำงานร่วมกัน หากมีปัญหาบางประเด็นต้องคิดทบทวนอีกครั้ง
*"ประชาชาติ" เรียกร้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคเคารพระบอบประชาธิปไตย ด้วยความเคารพคะแนนเสียงประชาชน จึงขอสนับสนุนนายพิธา จัดตั้งรัฐบาล และพรรคยินดีจัดตั้งรัฐบาล ของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนให้สำเร็จ และอยากเรียกร้องทุกฝ่ายโปรดให้ความเคารพการตัดสินใจประชาชนในประเทศนี้ ถ้าไม่เคารพเสียงประชาชน ก็จะติดกับดักปัญหาเดิมๆ ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราไม่อาจอยู่กับปัญหาเดิมๆได้อีกแล้ว
*"เป็นธรรม" วอน ส.ว.-ส.ส.เปลี่ยนผ่านรัฐบาลเพื่อความก้าวหน้า
นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า พรรคเน้นทำงานการเมืองสร้างสรรค์ สนับสนุนมติมหาชนที่ให้ฉันทานุมัติให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และการเข้าร่วมรัฐบาลไม่มีข้อต่อรองทางการเมือง แต่มีหลายเรื่องคุยกัน รวมถึงจุดยืนต่อมาตรา 112 ทุกอย่างต้องตกผลึกในการทำ MOU ร่วมกัน
ส่วนเรื่องคุณสมบัตินายพิธาเรื่องการถือหุ้น ITV เชื่อว่าจะผ่านวิกฤตได้ ถ้าให้เป็นธรรม ส่วนเสียง ส.ว.ทุกคนมีคุณวุฒิ ที่รู้ว่าควรจะลงคะแนนเสียงไปในทิศทางใด และอยากให้ ส.ส. ช่วยกันพิจารณาว่า ทุกคนอยากเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเดิมเพื่อความก้าวหน้าต่อไป ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองไปว่ากันในสภา
*"พลังสังคมใหม่" แนะลดความขัดแย้งสร้างสังคมใหม่
นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศกีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายมาลดความขัดแย้งกัน มาสร้างสังคมใหม่ด้วยกัน โดยให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30
*"เพื่อไทรวมพลัง"เท 2 เสียงร่วมสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ
นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง กล่าวว่า ตั้งใจมาแสดงจุดยืนว่าที่ ส.ส.ของพรรค 2 ที่นั่งพร้อมให้การสนับสนุนนายพิธาเป็นรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ