นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่มี 313 เสียง ถือเป็นตัวเลขเหมาะสม ทั้งการที่จะเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล การผ่านกฏหมาย การสร้างความสมดุลฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งเราต้องช่วยกันประคับประคองให้ประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 แม้จะไม่มีการระบุไว้ใน MOU แต่พรรคก้าวไกลยืนยันจะใช้กลไกของสภาฯ และเชื่อว่าจะมีผลต่อเสียงของ ส.ว. ในการยกมือโหวตนายกฯ เพราะพรรคก้าวไกลมีทีมเจรจา ที่ผ่านมามีโอกาสได้ตอบเพื่อคลายข้อกังวลใจของ ส.ว. หลายเรื่องถึงเจตจำนงและเนื้อหาของกฎหมายที่ตั้งใจให้ ม.112 ไม่กลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีกลั่นแกล้งกันทางการเมือง
เชื่อว่าเมื่อได้รับคำอธิบายระหว่างเนื้อหาในร่างกฎหมายที่เรายื่นไปแล้ว เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ ที่ระบุชัดเจนว่า ?ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์? น่าจะทำให้ ส.ว. และประชาชนจำนวนมาก สบายใจมากขึ้น
"ยืนยันอีกครั้งว่า ม.112 เป็นหนึ่งใน 45 ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เตรียมยื่นเข้าสู่สภาฯ เพื่อให้เกิดบทสนทนาอย่างมีวุฒิภาวะในสภาฯ ที่ผ่านมาบางครั้งอาจมีการฟังข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน จึงเป็นไปในแนวโน้มที่ดีมาก" นายพิธา กล่าว
ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาทางการเมืองที่ถูกตัดออกจาก MOU นั้น นายพิธา กล่าวว่า การนิรโทษกรรมได่มีความพยายามพูดคุยกันในพรรคร่วมรัฐบาล แต่มีความเห็นว่าเป็นวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกล ซึ่งสภาฯ น่าจะมีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ใช่เรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ขณะที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า MOU ที่ทำมุ่งผลสัมฤทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ถ้าอะไรที่จะทำให้เกิดความไม่สำเร็จ จะไม่ทำ ดังนั้น ในประเด็นมาตรา 112 ต้องไปดูรายละเอียดตัวร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลจะเสนอว่าจะเป็นประโยชน์ หรือมีผลกระทบอย่างไร จะตอบเป็นข้อสรุปทันทีในวันนี้ไม่ได้
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า จะไม่แก้ไขและไม่ยกเลิกมาตรา 112
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ประเด็นมาตรา 112 ถือเป็นเรื่องในอนาคต แต่ทางพรรคไม่มีนโยบายตรงนี้ แต่ตนเองสามารถให้ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ เพราะเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รู้ในเรื่องที่หลายคนไม่รู้ ก็จะให้คำแนะนำได้
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า เมื่อ 9 ปีที่แล้วนั่งอยู่ในหอประชุมกองทัพบก ต้องฟังคำประกาศยึดอำนาจ และคิดว่าประชาชนคนไทยถูกคนเพียงไม่กี่คนยึดอำนาจง่ายๆ แบบนี้หรือ ขอให้การยึดอำนาจปี 57 เป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย ไม่ควรมีเหตุการณ์นั้นเกิกขึ้นอีกแล้ว วันนี้เรามาเพื่อกระจายอำนาจ กระจายความหวังและความสุขให้ประชาชนทุกคน อยากวิงวอนทุกคนทุกฝ่าย ที่อาจเห็นตรงกันหรือต่างกัน ขอให้ให้โอกาสพวกเราทำงานให้ประชาชน ในเมื่อให้โอกาสคนยึดอำนาจมาตั้ง 9 ปี ก็ควรให้อำนาจในการคืนความสุขให้ประชาชน
"อาจจะไม่พอใจ 100% แต่อยากวิงวอนว่า การทำงาน การเจรจาใดๆ ไม่มี 100 เปอร์เซนต์ แต่ต้องถอยคนละก้าว เพื่อก้าวไปข้างหน้า เพื่อประชาชน ผมและอีกหลายคนมีความหวังอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง"
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การขจัดรัฐประหารหากดู MOU มีวาระสำคัญที่จะผลักดันรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ให้มาจากปลายกระบอกปืน แต่ต้องมาปลายปากกาของประชาชน ต้องเป็นจารีต การรัฐประหารคือ กบฏ ต้องถูกลงโทษ และอยากให้รัฐประหารปี 57 เป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย
นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องและเคยมีอำนาจจากรัฐประหาร ควรลงจากอำนาจได้แล้ว วันนี้ ประชาชนพิสูจน์ คนมาใช้สิทธิจำนวนมากเรียกร้องประชาธิปไตย ให้ช่วยส่งกำลังใจพวกเราฝ่าฟันอุปสรรคให้ตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ