นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมวางแผนพูดคุยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่งนั้นว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นข่าวที่บิดเบือนเพื่อให้เกิดความเสียหายกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องดังกล่าว
ส่วนที่มีการโต้เถียงถึงตำแหน่งประธานรัฐสภา และมีการพาดพิงถึงการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาของนายชวน หลีกภัยนั้น นายราเมศ กล่าวว่า หน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีหน้าที่ไปช่วยเหลือพรรคการเมืองใดในการไปผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปวินิจฉัย หรือสั่งการใดที่อยู่นอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ซึ่งประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ที่สำคัญทั้งรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ทั้งของสภาผู้แทนราษฎร และของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยังระบุอีกว่า จะต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
สำหรับหน้าที่ในการผลักดันผ่านร่างกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา ดังนั้นการให้ความเห็นใดๆ ควรยึดหลักความถูกต้อง นอกจากนี้ยังยืนยันว่าที่ผ่านมาการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาของนายชวนนั้น สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ยึดหลักความเป็นกลางในการวินิจฉัยในที่ประชุมทุกครั้ง การจะมากล่าวหาว่าไม่ร่วมผลักดันกฎหมายบางฉบับนั้น ประธานสภาฯไม่สามารถทำได้
"ส่วนร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับ การยกเลิก ม.112 การยกเลิกความผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน การยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาล ทั้งหมดเหล่านี้ มีการวินิจฉัยว่าขัดและแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถูกนำมาบรรจุในระเบียบวาระการประชุม ถ้าประธานสภาฯไปทำหน้าที่ตามอำเภอใจเพื่อสนับสนุนหรือผลักดัน ก็จะทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ได้" นายราเมศ กล่าว
นอกจากนี้การที่พาดพิงว่าประธานชวน ไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่มาจากภาคประชาชนเสนอนั้น นายราเมศกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายที่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาหลายฉบับ ตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาล และยังมี ร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
"ประธานรัฐสภาต้องทำตามข้อบังคับ เมื่อมีร่างกฎหมายของพี่น้องประชาชนเสนอเข้ามา มีขั้นตอน และเนื้อหาถูกต้อง ประธานสภาก็ต้องนำบรรจุเข้าระเบียบวาระ แต่อำนาจ ดุลพินิจในการพิจารณาร่างกฎหมายเหล่านั้น ล้วนเป็นอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา การมาพูดในลักษณะว่าประธานสภาไม่ได้ผลักดัน ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนเป็นการบิดเบือนทั้งสิ้น พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น และขัดแย้งต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่เห็นการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภามาตลอดว่าได้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา" นายราเมศ กล่าว
นายราเมศ ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไข ม. 112 ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะมีการระบุหรือไม่ใน MOU ก็ตาม แต่เสียงข้างมากของรัฐบาลสามารถที่จะผลักดันเพื่อแก้ไขเรื่องลักษณะนี้ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 พรรคก้าวไกล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เช่น กรณียกเลิกอัตราโทษจำคุกในความ ผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน กรณีการยกเลิกอัตราโทษจำคุกในความผิดดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก