นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากได้ยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือหุ้น บมจ.ไอทีวี 42,000 หุ้นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำผิดขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงขอให้ตรวจสอบว่านายพิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) มาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หรือไม่
พร้อมกันนี้ นายเรืองไกร ได้นำคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครส.ส.เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง โดยศาลให้มีผลนับแต่วันสมัครส.ส.คือวันที่ 6 ก.พ. 2562 เนื่องจากเห็นว่าตามคำวินิจฉัยของศาล ดังกล่าวยึดตามตัวบทกฎหมายเพียงว่า นายธัญญ์วาริน ถือหุ้นหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการ หรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ โดยไม่ได้มีการวางหลักว่าต้องถือมากน้อยแค่ไหน
พร้อมด้วยคำวินิจฉัยของกกต. เมื่อปี 64 รวม 4 ฉบับ ที่วินิจฉัยผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.จากการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ที่ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการสั่งดำเนินคดีอาญาด้วย ทำให้เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงนายพิธา ถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ปี 2551 และปี 2562 นายพิธา เป็นผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ หากวันนี้กกต.จะวินิจฉัยเรื่องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ก็ต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของกกต. โดยจะต้องย้อนไปพิจารณาว่าการถือหุ้นไอทีวีดังกล่าวของนายพิธา ก่อนปี 2562 และถือต่อเนื่องมานั้น เป็นเหตุให้นายพิธา สิ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ปี 2562 โดยต้องมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่นายพิธา ยื่นสมัครคือวันที่ 6 ก.พ.ใช่หรือไม่
"การที่นายพิธา ได้มาเป็นส.ส. มีการโหวตกฎหมายต่างๆไป ไม่ได้มีผลทำให้กฎหมายเหล่านั้นต้องเสียไป แต่เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินเพิ่มผู้ช่วยผู้ชำนาญการรวมอีก 8 คน อาจจะมีปัญหาได้ จากข้อเท็จจริงนี้จำเป็นที่กกต.จะต้องย้อนกลับไปตรวจสอบคุณพิธา เมื่อปี 62 ว่าสิ้นสมาชิกภาพส.ส.หรือไม่" นายเรืองไกร กล่าวว่า
นายเรืองไกร กล่าวตอบคำถามว่า ขณะนี้ประเทศกำลังเดินหน้าการมายื่นร้องคัดค้านจะทำให้การเดินหน้าสะดุดหรือไม่ว่า ประเทศก็เดินหน้าไป แต่คนกระทำความผิดหรือเข้าข่ายถูกตรวจสอบก็ต้องทำ กกต.จำเป็นต้องเร่งรัดตรวจสอบ
นายเรืองไกร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากร้อง กกต.โดยตรงแล้ว เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้วก็จะไปขอร้องให้ ส.ส.และ ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อส่งคำร้องให้ตรวจสอบคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ กกต. ตามแนวทางที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบสมาชิกภาพ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 จนนายสมัครพ้นจากนายกฯ เพราะคำพิพากษาว่าเป็นลูกจ้าง จากหลักฐานใบหักภาษี ภงด.3 ไม่ได้ยึดตามพจนานุกรม เช่นเดียวกับกรณีของนายพิธา ก็มีหลักฐานเป็นใบ บมจ.6 ตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง ซึ่ง กกต.ควรจะต้องนำไปประกอบการพิจารณา