นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) ที่ประชุม กมธ.การเมืองฯ ได้พิจารณาและติดตามสถานการณ์การเมืองเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ การเลือกประธานสภาฯ เลือกนายกรัฐมนตรี และการเตรียมความพร้อมกรณีตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน และตั้ง 7 คณะทำงานแก้ปัญหาประชาชน แต่มีความพยายามสร้างมวลชนกดดันองค์กรต่างๆ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณารับรอง ส.ส., การพิจารณาคำร้องขาดคุณสมบัติของนายพิธา, ศาลรัฐธรรมนูญที่มีหน้าวินิจฉัยประเด็นคุณสมบัตินักการเมือง, วุฒิสภาที่มีบทบาทต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี
"กรณีจัดตั้ง 7 คณะทำงานเพื่อนำสถานการณ์ทิศทางไปสู่บริหารประเทศ ผมมองว่าข้อเท็จจริงควรต้องผ่านการจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อย แต่เมื่อเวลาไม่ลงตัวจึงต้องทำเพื่อสร้างศรัทธาจากมวลชน รวมถึงเรียกมวลชนให้ออกมาปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาจัดทำขึ้น ที่อาจจะได้มวลชน เพราะขณะนี้ยังมีเวลาเหลืออีกพอสมควรก่อนที่ กกต.จะรับรองผลเลือกตั้ง" นายเสรี กล่าว
ส่วนการใช้มวลชนกดดันพรรคเพื่อไทยคงไม่ได้ เพราะเป็นพรรคที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง และวางเส้นทางทางการเมืองไว้ว่าจะเดินอย่างไร และสร้างการแสดงออกที่สร้างความเชื่อมั่นและความเชื่อใจในกลุ่มตั้งรัฐบาล แต่ในอนาคตนั้นตนเชื่อว่าคงคาดเดากันออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น กรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลนั้นคงจะรับประกันว่านายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้
"การันตีไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน สัญญาคือลมปาก สิ่งที่เพื่อไทยแสดงความเป็นสุภาพบุรุษว่าจะสนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนมาก แต่เขาก็รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สุดท้ายหวยก็ออกที่พรรคเพื่อไทย" นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้นายพิธาไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรีมาจากเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลไม่ยอมถอย และมีเจตนาที่จะเสนอแก้ไขแม้ไม่ระบุไว้ในเอ็มโอยูของพรรคร่วมรัฐบาล แต่มวลชนและเจ้าของพรรคก้าวไกลต้องการ ซึ่งตนไม่เข้าใจทำไมนายพิธาต้องยืนหยัดที่จะแก้ไข ทั้งที่ไม่ใช่ปัญหาของบ้านเมือง และตนเชื่อว่าประเด็นนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งของบ้านเมืองได้ในอนาคต