ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชาชน กำหนดบทเฉพาะกาล เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ โดยให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และผู้ว่าการ การตรวจเงินแผ่นดิน ภายใน 180 วัน พร้อมสรรหาเพิ่มเติมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 6 คนให้เท่ากับในรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
ทั้งนี้ สาระสำคัญในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มีจำนวน 37 มาตรา ที่พรรคพลังประชาชนมอบให้พรรคร่วมรัฐบาลศึกษา ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขในปลายเดือนนี้
เนื้อหาที่น่าสนใจในบทเฉพาะกาล ได้แก่ มาตรา 16 ให้กรรมการการเลือกตั้งคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะจะมีการสรรหาให้เสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และหากยังไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ให้คณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
มาตรา 25 ให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
และ มาตรา 26 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
นอกจากนั้น ยังกำหนดบทเฉพาะกาลในมาตรา 19 ให้มีการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก 6 คน จากเดิมมีอยู่ 9 คน ซึ่งต้องไม่เกิน 60 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มาจาก 1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน 2. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญ2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 คน และ 3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 1 คน
สำหรับมาตรา 257 กำหนดวิธีการสรรหาไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองที่มี สมาชิกเป็น ส.ส. พรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน เป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหารายชื่อเป็นสองเท่า เพื่อให้วุฒิสภาลงมติเลือก
มาตรา 21 ยังระบุว่า ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่เนื้อหาในบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับ ส.ส.และ ส.ว.ยังคงกำหนดให้ ส.ส.และส.ว.ชุดปัจจุบันตำแหน่งต่อไปจนกว่าครบอายุสภาผู้แทนราษฎร หรือครบวาระ โดยมาตรา 8 ให้ ส.ว.สรรหายังมีวาระ 3 ปีนับแต่วันที่ 19 ก.พ.51 และมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระมาบังคับใช้กับบุคคลดังกล่าวในการเลือกตั้งครั้งคราวถัดไปหลังสิ้นสุดสมาชิกภาพ
เมื่อ ส.ว.สรรหามีวาระครบ 3 ปีให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ว.ตามจำนวนที่ขาดเพื่อให้ได้ ส.ว.ครบจำนวน 200 คน โดยให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มนี้มีอายุได้เพียงเท่าอายุที่เหลืออยู่ของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--