นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีผู้โต้แย้งคำสัมภาษณ์ที่ระบุว่าผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จะไม่สามารถเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยยืนยันว่าหากเป็นการฟ้องตามมาตรา 151 ศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องตามศาลอาญาปกติ แต่ศาลที่จะสามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องขึ้นกับว่าขั้นตอนการหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะหยุดเมื่อใด และหน้าที่มีขึ้นเมื่อไร คือเริ่มต้นจากการรับรองผลการเลือกตั้ง หลังจากนั้นเป็นการรายงานตัวเป็น ส.ส. ซึ่งจะต้องมีการเปิดประชุมรัฐสภาให้ ส.ส.ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เพื่อคัดเลือกประธานสภาฯ จากนั้นให้สมาชิกได้ปฏิญาณตน จึงถือว่าเป็น ส.ส.
การที่ ส.ส.ที่จะเข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 10 เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอให้ ส.ส.คนใดหยุดปฏิบัตหน้าที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการปฏิญาณตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมยกตัวอย่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่าสามารถปฏิญาณตนได้ในฐานะ ส.ส. แต่หากศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องดูว่าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใด แต่หากศาลไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ว่าที่นายกรัฐมนตรีก็สามารถดำเนินกระบวนการนั้นไปได้ เว้นแต่มีในคำร้อง
"ผมไม่อยากชี้ช่อง ว่าในคำร้องได้ร้องอะไรยืดยาวมากกว่านี้ ซึ่งถ้าศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด ก็ไม่สามารถเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากหากเสนอไปแล้ว แต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ จะเอาความไปกราบบังคมทูลฯ ว่าอย่างไร และเมื่อทรงแต่งตั้งแล้ว ตั้งรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เพราะผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ คือนายกรัฐมนตรี
กระบวนการจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับอย่างนี้ แต่ยังไม่ทราบว่าศาลจะสั่งอย่างไรในเวลานั้น เหมือนกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ยังเป็น รมว.กลาโหม ก็ยังทำหน้าที่ได้ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหม ดังนั้นสิ่งที่เขาโต้แย้งผมมา ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ว่าหยิบประเด็นขึ้นมากันคนละประเด็น" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ในกฏหมายไม่มีข้อห้ามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ไม่รู้ว่าคำร้องจะว่าอย่างไร ซึ่งถ้าจะแสดงความคิดเห็นก็จะถูกกล่าวหาว่าชี้ช่องให้ร้องอีก ดังนั้นจึงไม่ขอตอบในส่วนนี้ ทั้งหมดอยู่ที่คำร้องของผู้ร้อง และอยู่ที่คำสั่งของศาลด้วย หากร้องไป 5 เรื่อง ศาลสั่งแค่ 2 เรื่องก็ไม่ได้
ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะมีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะจัดการเรื่องนี้ เนื่องจากมีลายเซ็นของประธานสภาฯ คนเดียวในการกราบบังคมทูลฯ เพราะเวลาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจะมีคำว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน บทบาทของประธานสภาฯ ที่จะต้องรับผิดชอบ เหมือนการเสนอแต่งตั้งข้าราชการ จะมาจากกระทรวงไหนก็แล้วแต่ แต่นายกรัฐมนตรีเป็นคนเซ็น นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
"เริ่มต้นพอเสนอชื่อ ประธานสภาฯ จะรับชื่อนั้นหรือไม่ ถ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ก็รับมา และก็ต้องมีการโหวตแข่งอยู่แล้ว 2-3 ชื่อก็ว่ากันไป เมื่อสอบตกไม่ได้ ประธานสภาฯ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากได้ขึ้นมา ประธานสภาฯ ก็ต้องคิดหนัก" นายวิษณุ กล่าว
หากมีการโหวตรายชื่อผู้ที่มีปัญหาให้ได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. มีเพียงการรับผิดชอบทางการเมือง แต่ไม่มีการรับผิดชอบทางกฎหมาย ส่วนตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตราบใดที่ยังไม่ได้ตำแหน่ง อาจจะยังไม่มีกฎหมายที่ระบุให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ล่วงหน้าหรือไม่นั้น ตนไม่กล้าตอบ เพราะไม่เคยมีตัวอย่าง ศาลอาจจะสั่งหรือไม่สั่งก็ได้ การสั่งตามมาตรา 82 เป็นการสั่งในตำแหน่ง ส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรี
กรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีการร้องแค่เรื่อง ส.ส.เพียงอย่างเดียว จึงสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่หากมีคำร้องในตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ พ่วงมาด้วยก็จะเกิดปัญหา ซึ่งเราไม่มีตัวอย่างมาก่อน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้
นายวิษณุ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าหากจะร้องในกรณีดังกล่าวต้องรอให้นายพิธา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหรือไม่ "ผมไม่ขอชี้ช่อง ถ้าผมตอบคุณตรงนี้ เท่ากับผมชี้ช่อง หากโหวตนายกรัฐมนตรีแล้วไม่ผ่าน วาระนี้จะถูกค้างอยู่ในสภาฯ ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้ก็จะถูกมองว่าชี้ช่องให้รัฐบาลอยู่ยาว ก็ควรทำให้เสร็จเร็วๆ วันนี้ไม่เสร็จ พรุ่งนี้ก็เลือก มะรืนก็เลือก
ในช่วงที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ 376 เสียง หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิว่าขาดคุณสมบัติ ส.ส.จะโยงไปถึงคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำร้องว่าร้องอย่างไร และคำสั่งศาลสั่งไว้อย่างไร
"เราจะบอกว่า ศาลไม่มีอำนาจสั่งก็ไม่ได้ ผมไม่แน่ใจ ศาลอาจจะบอกว่ามีก็ได้ เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งแปลกๆ หลายหนแล้ว" นายวิษณุ กล่าว และปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กกต.เพ่งเล็งการดำเนินคดีนายพิธา ในมาตรา 151 โดยไม่มีสารตั้งต้น เพราะรู้ว่าธงของคำตอบคืออะไร
ส่วนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ออกมาวิจารณ์ข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้ ส.ว.เข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส.ตามมาตรา 82 นั้น สามารถทำได้ เนื่องจากมาตรา 82 ไม่มีบทเฉพาะกาล สามารถใช้ได้ตลอด