สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "ทิศทางการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2566 โดยมี นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย ร่วมเสวนา
นายเจษฎ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ต้องแปลกใจเพราะไม่ได้ล่าช้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมนีหรือเบลเยียมที่ใช้เวลาถึง 400 กว่าวัน แต่ที่เป็นปัญหาคือ แม้จะได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายหากสภาล่างไม่ถึงครึ่งก็อยู่ลำบาก ท้ายที่สุดก็จะเกิดกลไกที่ตนมองว่า ไม่ควรเกิดขึ้นคือ การเข้ามารักษาความสงบแห่งชาติ มันจะทำให้บ้านเมืองลุกลามบานปลาย และจบปลายทางด้วยการรัฐประหาร ดึงพรรคพวกเข้ามาบริหาร
"ปัญหามากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลคือ การมี ส.ว. 250 เสียงจะต้องคอยขัดว่าจะต้องให้ได้ 376 เสียง หากไม่มีเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย ไม่มีวันจับมือกับพรรคก้าวไกลเด็ดขาด นี่คือสิ่งที่อดีต คสช.ได้ทำไว้ เพื่อช่วยเสียงข้างน้อยให้จัดตั้งรัฐบาลได้ และถ้าจะมองถึงขนาดนี้ก็มองให้ไกลกว่านี้ โดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปด้วยเลย จะได้ไม่ต้องมีปัญหา หรือจะให้ ส.ว.ร่วมโหวตกฎหมายด้วยเลย ย้ำว่า สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา คือ คสช." นายเจษฎ์ กล่าว
ด้าน นาง สิริพรรณ กล่าวว่า ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 1 เดือน จริงอยู่ที่ต่างประเทศใช้เวลานานกว่านี้ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาลผสม แต่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ กกต.มีระยะเวลาถึง 60 วันในการพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้ง จึงมองว่า นี่คือปัญหา แต่หากถามว่า เป็นความผิดของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็คงไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แบบนี้
"เชื่อว่า กกต.ไม่มีลับลมคมใน แต่ประชาชนเรียนรู้กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนาน จนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นพิษสงร้ายแรงต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น ได้แต่จินตนาการว่า พรรคนั้นจะเปลี่ยนขั้ว พรรคนี้จะไปรวมกับพรรคนั้น นี่คือความบั่นทอนของกติกาที่สร้างต่อตัวสถาบันการเมือง" นางสิริพรรณ กล่าว
นางสิริพรรณ ยังกล่าวถึงประเด็นการถือหุ้นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยเปรียบเทียบกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่า หากจำไม่ผิด กกต.ได้ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยเมื่อวันที่ 16 พ.ค.62 ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 7 วัน จึงมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะเลือกประธานสภา แต่กรณีนายพิธาไม่แน่ใจว่า ถ้าจะยื่นคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจว่า จะต้องมีการถวายสัตย์ก่อน ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะพิจารณามีคำสั่งทางใดทางหนึ่ง ถ้าดูครั้งที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วจึงวินิจฉัยว่านายธนาธรถือหุ้นและขาดคุณสมบัติ
"กรณีนายพิธาถือหุ้น ไม่แน่ใจว่าเราจะได้เห็นคำวินิจฉัยก่อนหรือไม่ ดังนั้นประเด็นอยู่ที่การโหวตของสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ติดตั้งกลไก โจทย์ที่ใหญ่ที่สุด และดิฉันไม่ได้โฟกัสว่า นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ แต่กลับมองว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ ความท้าทายในการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ คือ การจากอีกขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่งหลังการเลือกตั้ง ถ้าผ่านเดือนกรกฎาคม สิงหาคม ไปได้อย่างสงบสันติ หาทางออกได้โดยฉันทามติ อาจจะไม่ใช่ทุกเรื่อง อย่างน้อยที่สุด เริ่มต้นนับหนึ่งคือการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ประเทศชาติจะได้ไปต่อได้ แต่ถ้าไม่สามารถผ่านกรกฎาคม สิงหาคมไปได้ คิดว่า เราจะมีหน้าฝนที่ร้อนระอุ" นางสิริพรรณ กล่าว