นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานย่อยด้านสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ครั้งที่ 2 ว่า วันนี้เป็นการคุยกันต่อยอดจากครั้งที่แล้ว คือมาดูในรายละเอียดว่านโยบายและจุดยืนของแต่ละพรรคในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ว่า มีเรื่องไหนที่เหมือนหรือต่างกัน และจะมาดูกันว่าใน 100 วันแรกของรัฐบาลที่นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ภายใน 1 ปี 4 ปี จะทำอะไร
โดยวันนี้เราคุยกันถึงเรื่องมาตรการด้านความมั่นคงหลายเรื่อง เรื่องกฎหมายพิเศษ เราคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะลดความพิเศษของมัน ฟื้นคืนความปลอดภัยให้กับประชาชน และลดมาตรการพิเศษเหล่านั้น เรากำลังทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทบทวนตัวกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งโจทย์ที่รอเราอยู่ในอีกไม่นานนี้
หลังจากเป็นรัฐบาล การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วง 3 เดือนแรกจะต้องมีการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแน่ๆ โจทย์นี้เรากำลังอภิปรายอยู่ว่ามีความจำเป็นขนาดไหน ทั้งกฎหมายอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำลังนั่งทบทวนดู และอยากจะฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย รวมทั้งชาวพุทธที่อาจจะมีความกังวลว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่มีเครื่องมือเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างไร รวมทั้งทบทวนสถานภาพของ กอ.รมน.และ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 โดย 3-4 เรื่องนี้เรากำลังอภิปรายกันอยู่
นายรอมฎอน กล่าวว่า ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่เรากำลังจะเข้าสู่การทำงาน น่าจะมีวิธีคิดและมุมองใหม่ๆ ในการคลี่คลายปัญหา เราได้ทบทวนหน้าที่ของคณะทำงานย่อย เรามีข้อมติและสรุปผลการศึกษาของพวกเราจะนำเสนอต่อคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหญ่อีกครั้ง
พร้อมจะเปลี่ยนชื่อกลับไปชื่อเดิมคือ "การพูดคุยสันติภาพ" เพื่อสะท้อนนัยมีความหมายที่มุ่งสู่ความจริงจังของการแสวงหาข้อตกลง เพื่อสื่อสารกับคู่สนทนาของเราคือขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อสื่อสารต่อประชาคมนานาชาติที่ติดตามสถานการณ์ และเพื่อสื่อสารถึงประชาชนในพื้นที่ว่ารัฐบาลใหม่ที่นำโดยพลเรือนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไปจากรัฐบาลก่อนหน้านี้
ส่วนเรื่องการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติที่เชื่อมโยงมาถึงการถูกยื่นยุบพรรคการเมืองนั้น คณะทำงานไม่ได้มีการพูดคุยกัน ส่วนใหญ่เราจะมุ่งไปข้างหน้า และประเด็นที่อาจตกค้างจากการคุยกันครั้งที่แล้ว และในความเห็นส่วนตัวไม่ได้กังวลเรื่องนี้ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการหยิบยกเรื่องนโยบายความมั่นคงเพื่อล้มการจัดตั้งรัฐบาล เพราะตอนนี้มีหลายประเด็น ไม่ใช่มีแค่เรื่องปัญหาในภาคใต้เท่านั้น
นายรอมฎอน กล่าวว่า ข้อเสนอให้แบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นตกไปแล้ว มันคงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะเสนอให้มีการแย่งแยกดินแดน แต่แน่นอนมีคนตั้งคำถามแบบนี้ คือมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะการได้มาซึ่งอำนาจมีความชอบธรรมผ่านรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำตามนโยบายที่ได้เสนอไว้ต่อสาธารณะ ประชาชน และ กกต. เรายืนอยู่ภายใต้กรอบของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญอยู่ไทยอยู่แล้ว
"เรื่องนี้ตกไปนานแล้ว และได้ข้อสรุปนานแล้วว่าเป็นประเด็นที่พยายามทำให้มันกลายเป็นข้อกังขา ข้อคำถาม แต่เรายืนยันว่าเราเป็นพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ลงแข่งขันอย่างชอบธรรม และได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ผมว่าเรื่องนี้เป็นพื้นฐานซึ่งไม่ได้เป็นข้อถกเถียงใดๆ ทั้งสิ้นในที่ประชุม" นายรอมฎอน กล่าว