นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีรัฐอุดหนุนแก่ อปท. ดังนี้
1. ข้อเสนอด้านการจัดทำคำขอ และการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน
1) ควรมีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งวิธีการและระยะเวลาในการส่งเสริม และพัฒนารายได้ให้กับ อปท.
2) ในขณะที่ อปท. ยังไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ควรพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยลดการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งมักมีปัญหาการทุจริตจากการวิ่งเต้นและการบริหารงานงบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด
3) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และตัวชี้วัดอย่างชัดเจนในการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. เพื่อลดอำนาจการใช้ดุลยพินิจในการจัดสรรโดยมิชอบ
4) ควรเร่งดำเนินการให้ อปท. เป็นหน่วยงานที่ขอรับเงินงบประมาณโดยตรง
2. ข้อเสนอด้านการนำเงินอุดหนุนไปจัดทำข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ และการบริหารจัดการงบประมาณเงินอุดหนุน
1) ควรกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของ อปท. อย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้นในทุกกระบวนการ
2) ควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น และประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และอำนาจกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ
3) ควรส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในของ อปท. ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
4) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการของ อปท.
3. ข้อเสนอด้านการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน
1) ควรดำเนินการให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ (Big Data)
2) ควรกำหนดรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานของ อปท. ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
3) ควรกำชับให้ผู้ใช้อำนาจในการกำกับดูแล อปท. ตรวจสอบติดตามและการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของ อปท.
4) ควรสนับสนุนให้ อปท. ทุกแห่งใช้ระบบการจ่ายเงินโดยให้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)
5) ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้จ่ายและการบริการเงินอุดหนุนของ อปท. ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการหรือไม่
ทั้งนี้ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนของ อปท. กรณี อปท. อุดหนุนไปยังหน่วยงานอื่น ดังนี้
1. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานอื่นโดยไม่เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่กำหนดรวมถึงหน่วยงานที่รับเงินอุดหนุนจาก อปท. ใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบและวัตถุประสงค์ อันอาจนำไปสู่การทุจริต
1) ควรแจ้งและกำกับให้ อปท. กำหนดมาตรการควบคุมภายใน โดยให้จัดทำแผนการตรวจสอบประเด็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน และควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการติดตามว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
2) ควรกำหนดระเบียบห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้แก่หน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ในปีงบประมาณถัดไป
3) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนโครงการที่มีลักษณะเกี่ยวกับการจัดหาครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง
4) ควรกำหนดให้ อปท. ต้องจัดให้มีวิธีการที่จะให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ
5) ควรให้ความสำคัญในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องให้ความสำคัญทั้งในส่วนของ อปท. ที่ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุน และการดำเนินการของหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน พร้อมรายงานผลต่อสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย
2. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานที่ทำการปกครองอำเภอ และสำนักงานจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล อปท.ตามกฎหมาย อันเป็นการขัดกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแลเพื่อให้เกิดความถูกต้องและปราศจากการทุจริตทุกรูปแบบ
1) แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนฯ โดยห้าม อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้ที่ทำการปกครองอำเภอและสำนักงานจังหวัด
2) กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผู้กำกับดูแล อปท. ให้ อปท. ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย (มท.)
3. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้า การประปา และองค์การจัดการน้ำเสีย) โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางเช่นเดียวกับหน่วยงาน/องค์กรอื่น ที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท.
1) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนตามโครงการขยายเขตไฟฟ้า และประปา เพื่อจำหน่าย
2) ในกรณีที่ อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้รัฐวิสาหกิจในภารกิจตามหน้าที่ของ อปท. จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการให้เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่น คือ ให้นำเงินอุดหนุนนับรวมในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละของรายได้จริง ในปีงบประมาณที่ผ่านมา