นายชวน หลีกภัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการเลือกประธานสภาฯ ที่ยังไม่ลงตัวว่า โดยทั่วไปแล้วพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก มักจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาพรรคที่มีเสียงมากกับเสียงรองลงมาจะเป็นคนละฝ่ายกัน จึงไม่ค่อยมีปัญหากัน แต่ครั้งนี้พรรคที่มีคะแนนลำดับ 1 และลำดับ 2 ได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ทำให้เกิดปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเป็นประธานสภาฯ แต่ความวิตกกังวลว่าใครมาเป็นประธานสภาฯ แล้วจะได้เปรียบในการการเสนอกฎหมายหรือญัตติมันไม่มีผล เพราะประธานสภาฯต้องเป็นกลาง กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เช่นนั้น
นายชวน ได้กล่าวตอบคำถามว่าทางพรรคก้าวไกลอ้างว่าในสภาฯสมัยที่แล้ว การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้รับการพิจารณา แต่ถ้าตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกล และดันการแก้ไขมาตรา 112 อีกได้หรือไม่ว่า ตนจะพูดก่อนล่วงหน้าไม่ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สภาฯ ใครบรรจุระเบียบวาระต้องดูว่าวาระเป็นของใคร เป็นของรัฐบาลหรือไม่ ปกติแล้วถ้ารัฐบาลเสนอเข้ามา สภาฯก็จะพิจารณา เพราะถือว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหาร และการที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายอะไรมา แสดงว่ารัฐบาลได้พิจารณาโดยผ่านกระบวนการมาแล้ว
กรณีกฎหมายการเงินก็เช่นเดียวกัน ประธานสภาฯ ไม่มีสิทธิ์ไปสั่งเอง ต้องให้นายกฯ สั่งว่าเป็นการเงินแล้วรับรองให้หรือไม่ สภาฯ มีหน้าที่เพียงส่งให้ไปวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ และไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพิจารณาอยู่ จะไปบอกว่าไม่ใช่กฎหมายการเงินแล้วบรรจุระเบียบวาระไม่ได้ เพราะหากสั่งผิดไปก็จะมีปัญหา
นายชวน กล่าวถึงข้อถกเถียงว่าประธานสภาฯควรเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์การทำงานว่า ไม่ว่าเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า ใครก็ตามที่เข้ามาต้องช่วยกัน สมาชิกต้องให้ความร่วมมือกับประธานให้สามารถทำงานไปได้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือการรักษาระบบของฝ่ายนิติบัญญัติให้เข้มแข็ง ดำเนินงานไปได้
"ผมคิดว่าปัญหาเรื่องตัวบุคคลเป็นคนละเรื่องกัน แต่ถ้าเป็นห่วงว่าใครเป็นแล้วเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งผมคิดว่าทำได้ยาก แม้กระทั่งที่กฎหมายที่เสนอช้ากว่าของคนอื่นไป 5 นาทีเขาก็ให้ฉบับที่เสนอก่อนบรรจุก่อน เพราะมีกฎเกณฑ์บังคับไว้ประธานจะไปละเมิด เป็นเรื่องยาก มิเช่นนั้นจะถูกสมาชิกตรวจสอบได้" นายชวน กล่าว