ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งอัยการสูงสุดตรวจสอบด่วน มีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้อง ปมกล่าวหาพรรคก้าวไกล จะเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่อขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ เหตุมีผู้ร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
โดยวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เพื่อขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 แล้ว แต่อัยการสูงสุด มิได้ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่า มีคำสั่งรับ หรือไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หากมีคำสั่งรับคำร้องขอ ดำเนินการแล้วอย่างไร และผลการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยให้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายธีรยุทธ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
นายธีรยุทธ ได้ยกกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีที่กลุ่มบุคคล และองค์กรเครือข่าย ได้เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระทบกระเทือนถึงสถาบันหลักของชาติ ในขณะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลิกการกระทำอันกระทบกระเทือนสถาบัน เพื่อเป็นการหยุดยั้งไม่ให้ลุกลามจนเกิดอันตรายแก่สถาบัน