ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นรอยร้าวใหญ่ระหว่าง 2 พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เพราะต่างฝ่ายต่างออกมายืนยันความต้องการอ้างความชอบธรรมในการครอบครองตำแหน่งนี้
เดิมทีทั้ง 2 พรรคนัดหารือเพื่อหาข้อสรุปถึงความชัดเจนของตำแหน่งประธานสภาฯ อย่างเป็นทางการในเช้าวันนี้ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยที่ออกมาแถลงผ่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรควานนี้ ตอกย้ำจุดยืนเดิมในการเจรจาเงื่อนไขการจับมือร่วมรัฐบาล "14 เก้าอี้รัฐมนตรี +1 เก้าอี้ประธานสภาฯ" หลังจากคณะเจรจาเคยแสดงท่าทีอ่อนลงยอมถอยให้ก้าวไกลด้วยเงื่อนไข "14 เก้าอี้รัฐมนตรี + 2 เก้าอี้รองประธานสภาฯ" ซึ่งถูกกระแสภายในพรรคเพื่อไทยเองโจมตีและกดดันอย่างหนัก จนกระทั่งต้องย้อนกลับไปที่จุดยืนเดิม
วงเจรจาที่กำหนดมีขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในวันนี้ถูกพรรคก้าวไกลประกาศเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากออกมาประกาศในทันทีที่พรรคเพื่อไทยย้ำจุดยืนเดิม ด้วยการเดินเกมเปิดตัว นส.พ.ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นแคนดิเดทประธานสภาฯ ผ่านทางสื่อโซเชียล พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ในการทำงานที่มุ่งสร้างรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นของประชาชน เปรียบเสมือนการประกาศยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องเป็นของพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับ 1 ตอบโต้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยในทันที
นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำส่อเค้าว่าจะไปไม่รอด หลังพรรคเพื่อไทยกลับลำมาย้ำความต้องการตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ได้โอนอ่อนให้กับพรรคก้าวไกลเหมือนทีแรก ซึ่งเป็นการยืนยันชัดเจนแล้วว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล
"เอ็มโอยู 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมันจบแล้ว ไปไม่รอดแล้ว ถ้าก้าวไกลไม่หลอกตัวเอง ไม่หลอกสังคม เพราะมติเพื่อไทยชัดเจนว่าไม่มีก้าวไกลแล้ว" นายโอฬาร กล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกลควรชิงจังหวะได้เปรียบทางการเมืองประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน และเปิดโปงถึงความไม่ชอบมาพากลในการเจรจาต่อรอง แล้วเดินหน้าทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เชื่อว่ารัฐบาลที่มีธุรกิจการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องจะมีอายุได้ไม่เกิน 1 ปีครึ่งก็จะต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้กลับมาแบบแลนด์สไลด์กว่าการเลือกตั้งครั้งนี้
"ทั้งสองพรรครู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าไปด้วยกันไม่ได้ เพราะเป็นพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองที่มีจำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกัน มีอำนาจต่อรองพอๆ กัน เพียงแต่พรรคก้าวไกลอยากได้พรรคที่อยู่ในฟากประชาธิปไตยมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล" นายโอฬาร กล่าว
สถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดการพลิกขั้ว เชื่อว่าเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่าโอกาสกลับมาเมืองไทยน้อยลงทุกที เพราะคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเริ่มเสื่อมถอยไปจนปรากฎการณ์ "แลนด์สไลด์" ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่ฝันไว้ ขณะที่ตอนนี้ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองสายทหาร หากปล่อยเวลาล่วงเลยนานออกไปอีกก็จะยิ่งกลับบ้านได้ยากยิ่งขึ้น
"เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้กลับบ้านแล้ว อีก 4 ปีคงรอไม่ได้ เป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายที่จะกลับมาบ้านแล้ว ยอมเทหมดหน้าตัก" นายโอฬาร กล่าว
แม้ว่าประเด็นการเมืองพลิกขั้วหากเกิดขึ้นจริงย่อมเกิดผลกระทบรุนแรงกับฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน แต่คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่นายทุนพรรคจะคำนึงถึงมากนักในเวลานี้ ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนที่จะเข้ามาสานต่อคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาในอนาคตไปดีกว่า
ดังนั้น สถานการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำช่วงนี้ต้องจับตาดูแบบห้ามกระพริบ ท่ามกลางกระแสข่าวดีลลับดีลลวงที่จะเกิดการพลิกขั้วจับมือจัดตั้งรัฐบาลหนาหูมากขึ้นทุกที