สภาฯ ยังไม่เคาะวันเลือกประธานฯ คาดรอดีล 2 พรรคลงตัว

ข่าวการเมือง Thursday June 29, 2023 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในหนังสือแจ้งสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 3 ก.ค.66 เวลา 17.00 น ณ ห้องโถง พิธีชั้น 11 อาคารรัฐสภา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา และมีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต ทูตานุทูตประเทศต่างๆ ประธานศาลฎีกา และประธานองค์กรอิสระเข้าร่วมกว่า 1,000 คน พร้อมแนบคำแนะนำสำหรับสมาชิกรัฐสภาในพิธีเปิดประชุม ทั้งขั้นตอนต่างๆ และเครื่องแบบการแต่งกายด้วย

ส่วนในวันที่ 4 ก.ค.66 ซึ่งเดิมได้กำหนดให้เป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการทำหนังสือเชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม โดยมีรายงานว่า สภาฯ จะขอประเมินสถานการณ์ความพร้อมในการเลือกประธานสภาฯ ก่อน เนื่องจากขณะนี้ทั้ง 2 พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีข้อสรุปในตำแหน่งนี้ คาดว่าต้องรอผลการหารือของ 8 พรรคการเมืองในวันที่ 2 ก.ค.66

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนสภาฯ จะต้องทำหนังสือแจ้งสมาชิกให้รับทราบก่อน 3 วันที่จะมีการประชุม และตามกรอบเวลาของระเบียบวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกจะต้องเปิดประชุมภายใน 10 วัน นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งจะตรงกับวันที่ 12 ก.ค.66

สำหรับสถานการณ์ในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่ 10 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดให้ ส.ส.มารายงานตัว จนถึงขณะนี้ยังขาดอีก 1 คน คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งไม่ได้นัดหมายว่าจะเดินทางมารายงานตัวเมื่อใด

*เลือกประธานสภา ต้องเป็นไปตามกรอบเวลา 10 วัน หลังรัฐพิธี ส่วนนายกฯ ไม่มีกรอบเวลา

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเชื่อว่า ในวันที่ 4 ก.ค.นี้จะสามารถเลือกประธานได้ ซึ่งไม่มีเหตุอะไรที่จะเลือกไม่ได้ ยกเว้นแต่จะเลื่อนการประชุม ซึ่งตามกฏหมาย ต้องเลือกประธานสภาให้ได้ภายใน 10 วัน หลังจากเปิดประชุมแล้ว ดังนั้นภายในวันที่ 13 กรกฎาคมจะต้องได้ประธานสภา

พร้อมย้ำว่า การเลือกประธานสภาไม่มีเหตุใดที่จะมาขัดขวาง ซึ่งไม่เหมือนกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา แต่ตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องการแค่เสียงข้างมากของส.ส.เท่านั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า การเสนอชื่อประธานสภาฯ สามารถเสนอได้หลายคนและใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมสภาฯ ในการโหวต ซึ่งทุกพรรคสามารถเสนอกี่ชื่อก็ได้ โดยจะเป็นการเสนอในคราวเดียวกันและเลือกครั้งเดียว นอกจากจะมีการเสนอให้มีการโชว์วิสัยทัศน์ของแคนดิเดทประธานสภาทุกคน และเมื่อโชว์วิสัยทัศน์ยังไม่เสร็จภายในวันนั้นก็สามารถเลื่อนวันได้ โดยขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่า จะให้แสดงวิสัยทัศน์หรือไม่

นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภาฯ มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนจะมีการเสนอกี่ชื่อก็เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกพรรคสามารถเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของตัวเองได้ เมื่อมีการเสนอขึ้นมาแต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ต้องมาแข่งขันกัน โดยประธานสภาฯ จะเป็นผู้เสนอให้โหวตแบบไหน

ส่วนกรณีที่มีการแย่งตำแหน่งประธานสภาฯ กันนั้น ไม่ใช่แค่มาทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับการทำหน้าที่อื่นๆด้วย ทั้งเรื่องกฎหมายกระบวนการต่างๆ และการนัดวันประชุม แต่ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ตามที่นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ เคยพูดไว้ว่าจะเป็นคนชี้เป็นชี้ตายไม่ได้ แม้ว่าบางอย่างประธานสภาฯ จะตัดสินใจเองได้ก็ตามแต่บางอย่างก็อยู่ภายใต้เสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่อำนาจที่มีคือการสั่งปิดประชุม

ขณะที่อำนาจแก้กฎหมายโดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประธานสภาฯ จะชี้ขาดว่าจะรับหรือไม่รับ หากประธานชี้ว่าไม่รับ เพราะเป็นญัตติที่ผิดกฎหมายก็ไม่รับ แต่ส่วนตัวมองว่าใครได้ตำแหน่งประธานสภาก็ดีทั้งนั้น

ขณะที่การเลือกนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีกรอบเวลา ว่าจะเลือกภายในกี่วัน ขึ้นอยู่กับประธานสภาฯ จะเป็นผู้กำหนด แต่หากยังเลือกนายกฯ ไม่ได้ประชาชนอาจจะโอดครวญอยากให้ได้รัฐบาลเร็วขึ้น ซึ่งรัฐบาลรักษาการแม้จะมีอำนาจหน้าที่ แต่บางอย่างก็ทำไม่ได้ เช่น การใช้งบกลางก็มีข้อจำกัดและมีเงื่อนไขอยู่มาก ที่สำคัญคือ งบประมาณจะออกล่าช้า ถ้าได้รัฐบาลเร็วก็จะสามารถแถลงนโยบายได้เร็ว และเสนอกฎหมายได้รวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีจะขอลาออกจากการถูกเสนอชื่อไม่ได้ แต่ใช้วิธีถ้าหากได้รับเลือกก็ไม่รับตำแหน่ง หรือทำให้ตัวเองขาดคุณสมบัติ แต่ลาออกไม่ได้ เพราะตั้งแต่แรกที่เสนอชื่อแล้วตามระเบียบไม่สามารถถอนตัวได้ ยกเว้นเสียชีวิต หรือขาดคุณสมบัติ

ส่วนการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาแต่งตั้งหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คงต้องดูว่า รัฐบาลใหม่เกิดขึ้นเร็วหรือไม่ก็คงต้องรอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการ แต่หากเกิดขึ้นช้าก็จำเป็นจะต้องมีการแต่งตั้งไปก่อน ขณะที่ไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า เมื่อเลือกประธานสภาฯ ได้แล้ว คนที่รับสนองพระบรมราชโองการ คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่รักษาการ แต่เมื่อได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ประธานสภาฯ จะเป็นผู้รับสนองฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ