นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ นั้น ถือเป็นการยืนยันความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมทั้ง 8 พรรค ที่สามารถรวบรวมเสียงได้โดยไม่แตกแถว
ส่วนตำแหน่งของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 ที่ต้องมีการโหวตแข่ง และได้รับคะแนนไป 312 เสียง ซึ่งคะแนนที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพเต็มร้อย และแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพิ่มขึ้น และถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตตรี และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
พร้อมยืนยันว่า จะน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะคำว่า ชาติ และประชาชน มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน
นายพิธา กล่าวว่า ในส่วนของกฏหมายสำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน ชาติพันธุ์ สุราก้าวหน้า และสมรสเท่าเทียม จะไม่เป็นอุปสรรค และจะได้รับการผลักดันให้เป็นกฏหมายสำคัญในสภาฯ ต่อไป
ส่วนข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะครอบคลุมไปถึงพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคด้วยหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า การแถลงเมื่อวาน ถือเป็นความเห็นชอบทั้ง 2 พรรค แต่ได้นำร่างคำแถลงเมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) ให้ 6 พรรคที่เหลือได้เห็นแล้ว ส่วนเรื่องรายละเอียดนั้น พรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างกฏหมายไว้ แต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องมีการอภิปรายในที่ประชุมสภา
ส่วนประเด็นการแจ้งเรื่องขายที่ดิน 14 ไร่ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั้น นายพิธา กล่าวว่า เรื่องที่ดินได้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทราบทั้ง 2 ครั้ง และหากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องแจ้งอีกครั้ง ซึ่งตนยังไม่เห็นคำร้องว่าผู้ร้องติดใจเรื่องอะไร แต่สามารถอธิบายและตอบคำถามได้ทุกเรื่อง
*"ปดิพัทธ์" ลาออกกรรมการบริหารก้าวไกล พร้อมลุยงานรองประธานสภา
ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า จากข้อกังวลเรื่องการเลือกตั้งประธานสภาฯ ที่ผ่านมา วันนี้ทุกอย่างดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย และแม้ในส่วนของตำแหน่งรองประธานสภาฯ จะต้องมีการโหวตแข่งขัน แต่ตนก็ได้รับความไว้วางใจ และถือเป็นบทบาทใหม่ที่ท้าทาย ซึ่งตนมีความตั้งใจทำงาน และได้ลาออกจากคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลแล้ว และจะเริ่มต้นทำงานในสภาฯ อย่างเป็นกลางต่อไป
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คณะทำงานมีข้อตกลงว่าประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ จะดำเนินการให้สภาไทยก้าวหน้า โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งได้มีโอกาสหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาฯ แล้ว ต่างเห็นตรงกันในหลายมิติ โดยจะมีการผสมผสานประสบการณ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าด้วยกัน ขณะเดียวกัน ก็พร้อมน้อมรับทุกข้อเสนอของสื่อ เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธานสภาฯ แล้ว จะรีบหารือเรื่องการแบ่งงาน แต่จะเร่งพิจารณาเรื่องการปรับปรุงกฏหมายต่างๆ
ส่วนเรื่องกฏหมายสมรสเท่าเทียมนั้น ในฐานะรองประธานสภาฯ เมื่อบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ แล้ว การวินิจฉัยของประธานหรืออคติของประธานสภาฯ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการบรรจุทุกญัตติ
"หากผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องในการเสนอญัตติ มีเนื้อหาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ สามารถบรรจุวาระได้ทุกอย่าง เมื่อทำตามขั้นตอนถูกต้อง จะใช้เวทีสภาเป็นตัววินิจฉัย" นายปดิพัทธ์ ระบุ