"วันนอร์" นัดประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ 13 ก.ค. หากเสียงไม่พอต้องนัดใหม่จนกว่าจะได้

ข่าวการเมือง Wednesday July 5, 2023 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้เชิญ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ มาหารือ เบื้องต้นได้เตรียมการเรื่องพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 1-2 วัน ต่อมาคือ การเปิดประชุมสภาฯ นัดต่อไป ที่เบื้องต้นจะกำหนดในวันที่ 12 กรกฏาคม เพื่อพิจารณาการกำหนดวันประชุมของสภาฯ ประจำสัปดาห์ ซึ่งต้องรอสอบถามความคิดเห็นของ ส.ส. ว่าจะใช้ 2 หรือ 3 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงให้ ส.ส.ที่ไม่ได้กล่าวคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินการให้ครบถ้วน

ขณะที่การประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ตนได้หารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา เบื้องต้นจะกำหนดการประชุมรัฐสภาในวันที่ 13 กรกฏาคม เวลา 09.30 น.

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองที่ตกลงจะเป็นรัฐบาล 8 พรรค สนับสนุนหัวหน้าพรรคที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เป็นนายกฯ แต่เป็นข้อตกลงของ 8 พรรค แต่การโหวตนายกฯ เป็นเรื่องของรัฐสภา ที่มีส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีเกณฑ์คะแนน 376 เสียง ซึ่งการลงมติดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะลงมติ แต่หากเป็นเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรคงไม่มีปัญหา เพราะมีเสียงข้างมาก 312 เสียง

ทั้งนี้การโหวตนายกฯ อาจจะผ่าน และครบ 376 เสียง ในครั้งเดียวก็เป็นได้ แต่หากไม่ครบ ต้องรอดูว่าจะมีพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป และคะแนนที่ได้นั้นมีจำนวนเท่าใดจะครบเกณฑ์ คือ 376 เสียง รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะขอเวลาในการประชุมอีกกี่ครั้ง

"รัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่คุณพิธาคนเดียว ซึ่งคุณพิธาอาจจะได้ ก็ได้ไปตามกติกา หากไม่ได้ต้องหาจนได้ เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไปบริหารประเทศ ซึ่งจะประเทศจะขาดนายกฯ ไปบริหารประเทศไม่ได้ ในเบื้องต้นที่ผมขอพูดอย่างเป็นกลาง ส.ส.ที่มีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมาย พิจารณางบประมาณ ได้รวมกันในซีกจัดตั้งรัฐบาล แล้ว 312 เสียง ซึ่งวานนี้ในการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้เสียง 312 เสียง จะถือเป็นหลัก แต่การเลือกนายกฯ ไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงจะได้เป็น ต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งขาดอีก 64 คะแนน หากไม่ได้ต้องโหวตให้ได้ ส่วนจะนัดโหวตอีกกี่ครั้งผมตอบไม่ได้" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ส่วนหากที่ประชุมยืนยันเสนอแคนดิเดทคนเดิมจะให้ประชุมหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่ต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง และมีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง หากรายชื่อทั้งหมดไม่ผ่านเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภาจะให้เสนอคนนอกได้ แต่รัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3

"ผมคิดว่าเราไม่สามารถก้าวล่วงล่วงหน้าได้ สิ่งสำคัญต้องมีนายกฯที่บริหารประเทศต่อไปได้ อย่างไรก็ดีในการกำหนดวันประชุมเพื่อเลือกนายกฯ หากครั้งแรกไม่ได้คะแนนตามเกณฑ์นั้นต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง พร้อมกับฟังเสียงจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยประธานไม่มีหน้าที่ที่จะกำหนด เนื่องจากต้องดูความเหมาะสมและความพร้อม โดยเฉพาะการเข้าร่วมประชุมของสมาชิก เพราะหากสมาชิกไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ก็จะมีปัญหาองค์ประชุม" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ