นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยถึงกรณีที่ได้เสนอแนวทางการเข้าชื่อ ส.ว.เพื่อยื่นตีความคุณสมบัติของบุคคลที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น ล่าสุดเห็นว่าไม่ใช่แนวทางและไม่เหมาะสม รวมถึงไม่ควรทำ ดังนั้นควรปล่อยให้กระบวนการเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนี้ทราบว่าจะมี ส.ส.ที่อาจจะเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกันทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของนายพิธาและเตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความชัดเจน ส่วนจะดำเนินการได้ทันก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ
ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอไม่ให้นำประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 หรือคุณสมบัติของนายพิธา มาเป็นเงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น คงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่แค่เลือกหรือไม่เลือก ดังนั้นกรณีจะให้ความเห็นชอบต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ที่บางฝ่ายอ้างว่า ส.ว.สามารถใช้อำนาจยับยั้งการแก้ไขมาตรา 112 ตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของวุฒิสภา ตนมองว่าไม่สามารถรอให้ถึงตอนนั้นได้ เพราะ ส.ว.ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เนื่องจากทราบเจตนาของผู้เสนอแก้ไขว่าต้องการใช้เป็นเวทีเพื่อเปิดช่องวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูง
นายเสรี กล่าวถึง กรณีที่ ส.ว.มีความเห็นให้ปัดตกชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่โหวตไม่ผ่านในรอบแรกนั้นว่า ตามกติกาไม่มีสิ่งใดห้าม แต่อยู่ที่ความเหมาะความควร หากคนที่รัฐสภาไม่เห็นชอบในรอบแรกจะเสนอกลับมาอีกเพื่ออะไร หากทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดภาพได้ว่า มีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่คะแนนรอบแรกปรากฎชัดเจนอยู่แล้ว หากรอบแรกไม่ได้ รอบต่อไปต้องเปลี่ยนคน
"หากรอบสอง พรรคการเมืองยังเสนอชื่อคนเดิม ส.ว.ไม่จำเป็นต้องประท้วงหรือวอล์กเอาต์ แค่นั่งบนเก้าอี้และงดออกเสียงก็เพียงพอ มีค่าเท่ากัน" นายเสรี กล่าว