กกต. ถกต่อวันที่สอง ปม "พิธา" ถือหุ้นสื่อ ก่อนเคาะส่งศาลรธน.หรือไม่

ข่าวการเมือง Tuesday July 11, 2023 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มประชุมในเวลา 10.00 น. โดยเป็นการประชุมต่อเนื่องจากเมื่อวาน (10 ก.ค.) กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ถือครองหุ้น บมจ. ไอทีวี เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ก็ยังไม่มีคำยืนยันว่าจะมีการลงมติหรือไม่ เนื่องจาก การที่ กกต.ได้มีการนัดประชุมล่วงหน้าในวันนี้ และวันที่ 13 ก.ค. ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า กกต.จะใช้เวลาในการพิจารณา

โดยในการประชุมครั้งแรกเมื่อวานนี้ กกต.ยังไม่ได้ได้ลงมติว่าจะส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เป็นการติดตามความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ

ประกอบกับการที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ต้องขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของคำร้องที่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนเนื้อหา และข้อกฎหมาย โดยการพิจารณาของ กกต.ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จเมื่อใด

ทั้งนี้ในการพิจารณาของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนการพิจารณาตามมาตรา 151 ที่ กกต.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนไปก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องของการดำเนินคดีทางอาญา แต่ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อที่จะต้องพิสูจน์ข้อมูลและหลักฐานว่านายพิธา ถือหุ้นจริงหรือไม่ และหุ้นนั้นเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชลหรือไม่

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อคัดค้านหนังสือของพรรคก้าวไกล ที่ได้ส่งมาถึง กกต.เมื่อวานนี้ เนื่องจากเห็นว่าพรรคก้าวไกล อ้างมาตราข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งการดำเนินการของ กกต.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยกกต. ได้ดำเนินการสอบสวนในลักษณะเดียวกับที่ดำเนินการกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีถือหุ้นวีลัคมีเดีย และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า กระบวนการพิจารณากกต.ชอบด้วยกฎหมาย

นายเรืองไกร ยังระบุด้วยว่า ก่อนที่ กกต.จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของนายพิธานั้น ไม่จำเป็นจะต้องเชิญนายพิธามาชี้แจงก่อน เพราะเป็นกรณีการยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

พร้อมระบุว่า การเดินทางมายื่นหนังสือด้วยตนเองในครั้งนี้ ต่างจากที่ผ่านมาที่เป็นการยื่นทางไปรษณีย์นั้น เป็นเพราะทราบว่ากกต.จะมีประชุมพิจารณาเรื่องนี้ต่อในวันนี้ จึงเกรงว่าหากส่งหนังสือทางไปรษณีย์ จะทำให้หนังสือมาถึงสำนักงาน กกต.ไม่ทัน จึงต้องเดินทางมายื่นด้วยตัวเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ