หลังจากเปิดประชุมร่วมรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และได้รับเสียงรับรอง 302 เสียง ขณะที่ไม่มีผู้เสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นมาแข่งชิงตำแหน่ง
จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้ ส.ส.-ส.ว.ได้อภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เป็นคนแรกที่อภิปรายคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจุดยืนของพรรค คือไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคการเมือง 7 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นเหตุให้การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันของ 8 พรรค ไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 แม้ว่าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคจะลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลที่จะผลักดันต้องไม่กระทบรูปแบบการปกครองของรัฐ แต่ทางกลับกันนายพิธา กลับเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่า จะแก้ไขมาตรา 112 โดยให้ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎมายเอง
ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ พรรคภูมิใจไทยพร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ และคัดคานการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเต็มที่ พรรคไม่มีเจตนาจัดตั้งหรือสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่ง เพราะเราเคารพมติประชาชน และยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
"ผมอยากเห็นรัฐบาลชุดนี้แต่งตั้งไวๆ จะดูว่าทำงานได้หรือไม่ เราต้องให้โอกาสทุกคน แต่ท่านอย่าไปจุดชนวนให้บ้านเมืองนี้ ผมขอเรื่องมาตรา 112 เพราะถ้าท่านทำจะวุ่นวาย ซึ่งจะเป็นภารกิจของผมและพรรคที่ต้องให้ระบอบประชาธิปไตยอันทีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่คู่สังคมไทยไปตลอด" นายชาดา กล่าว
จากนั้นนายประพันธ์ คูณมี ส.ว. ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการเสนอชื่อบุคคลที่ขาดคุณสมบัติขัดต่อกฎหมาย และมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในสื่อ บมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ที่อาจมีคนแย้งว่าขณะนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดจะถือว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติไม่ได้นั้น ตนเห็นว่าปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนจะสมัครส.ส. ต้องตรวจสอบตัวเองแล้วว่ามีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สภาต้องพิจารณาให้ละเอียดถ่องแท้ว่าการเสนอบุคคลดังกล่าวชอบหรือไม่
นายประพันธุ์ กล่าวว่า หากสภายังดึงดันจะลงมติบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่อาจถูกดำเนินคดีได้ตามมาตรา 231 (1) เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวตนไม่เห็นด้วยและคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายพิธา ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันกับสมาชิกทั้ง 750 คน ว่า ยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์ทุกประการและมีความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนเรื่องข้อกล่าวจาก กกต. และยังไม่มีโอกาสชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว และการยื่นคุณสมบัติของตนเองผ่านองค์กรอิสระต่างๆ ดำเนินการด้วยความรัดกุมมาตลอดทุกครั้งตั้งแต่เป็น ส.ส.สมัยแรก เพราะยอมรับการตรวจสอบ และดีกว่าบางคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นกกต.หรือปปช.ก็ตาม
นายพิธา กล่าวต่อว่า คุณสมบัตินายกรัฐมนตรีที่ดีต้องมีความอดทนอดกลั้น รับฟังข้อกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวอภิปรายว่า ประเด็นส่วนใหญ่ที่สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ยังติดใจ คือ นโยบายแก้ไข มาตรา 112 เนื่องจากนายพิธาเคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 ต่อไป ตนจึงรับไม่ได้ในประเด็นนี้ เพราะการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ซึ่งในปี 2562 ที่ไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมจากอดีตประธานสภาฯ เพราะร่างที่เสนอมานั้นอาจขัดแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6
แม้นายพิธา ยืนยันว่า ไม่ถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเชื่อมั่นในการแก้ไขตามแนวทางนี้ แต่ขอให้เคารพในความเชื่อ และอุดมการณ์ของตน และส.ว.จำนวนหนึ่งด้วย ที่เชื่อว่า คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะใน 14 ล้านเสียง และ 25 ล้านเสียงเลือกพรรคร่วมรัฐบาล และจำนวนมากที่ไม่ได้เลือก เขาไม่ได้เห็นว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดยาวนานของสังคมไทย ที่แสดงเห็นถึงความผูกพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน และการรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้เป็นสิ่งที่ควรจะทำ
นายคำนูณ กล่าวถึงกรณีมีการตั้งคำถามว่า มีส.ว.ไว้ทำไมว่า ความเป็นส.ว. นอกจากกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่ง และปฏิรูปกฎหมาย ยังมีเรื่องการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่เท่าที่เป็นมา มิให้กระทบ หรือลดทอนลงไป เพราะการแก้ 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลเป็นภารกิจสำคัญหนึ่งของส.ว. ดังนั้นการตัดสินใจโหวต จึงยึดประเด็นนี้สำคัญ ตนไม่อาจรับได้ ไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนแนวทางแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเสนอแก้มมาตรา 112 พร้อมระบุว่าที่ไม่สนับสนุนไม่ใช่เพราะความไม่ชอบ แต่เป็นการทำหน้าที่ของ ส.ว. เพราะเป็นภารกิจสำคัญของ ส.ว.ในการปกป้องเสาหลักของชาติและความมั่นคงของประเทศ แม้จะถูกประชาชนที่สนับสนุนนายพิธา และพรรคก้าวไกลต่อว่าจนได้รับความเสียหาย
นายเสรี กล่าวว่า หากวันนี้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีก็แล้วไป แต่หากไม่ผ่านการโหวตก็หวังว่า อย่าไปปลุกม็อบให้ออกมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง