40 องค์กรปชต. ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ส.ว.โหวต"พิธา-ยกเลิก 272"

ข่าวการเมือง Monday July 17, 2023 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือข่าย 40 องค์กรประชาธิปไตยและภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องสมาชิกรัฐสภาให้เคารพฉันทามติมหาชนในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 1 ได้ร่วมกับ 7 พรรคการเมืองมีมติเห็นพ้องให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาวันที่ 13 ก.ค.66 ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยวิธีการขานชื่อ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวม 705 คน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว คือ นายพิธา และผลการลงคะแนนมีผู้เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง และขาดประชุม 44 เสียง จึงมีคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ คือ 375 จาก 749 คน ทำให้นายพิธาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ผลการลงมติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สมาชิกวุฒิสภาได้กระทำการลุแก่อำนาจ ร่วมกันกระทำการอย่างชัดแจ้งทำลายล้างฉันทามติของประชาชน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ที่มีเจตนารมณ์กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองประสงค์จะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าถ้าเลือกพรรคการเมืองใดจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากย่อมเป็นเจตจำนงของประชาชนที่จะเลือกผู้ที่พรรคการเมืองนั้นเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การมีส่วนร่วมในการเลือกผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.เป็นเวลา 5 ปีแรกนั้นเป็นผลมาจากบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เขียนขึ้นโดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำการรัฐประหาร โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้ากองทัพไทย แทนรัฐธรรมนูญที่ คสช. ฉีกทิ้งไป

องค์กรประชาธิปไตยและภาคประชาชนจึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.สมาชิกรัฐสภาพึงสร้างการเมืองใหม่ ปฏิรูปตนเอง โดยคำนึงถึงมติมหาชนให้เหมาะสมสอดคล้องกับการพัฒนาการเมืองภาคประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ที่สามารถก้าวข้ามวงจรอุบาทว์และการใช้อิทธิพลในการแข่งขันเอาชนะการเลือกตั้งได้

2.สมาชิกรัฐสภาพึงทบทวนการออกเสียงลงคะแนน ให้เป็นไปตามฉันทามติของประชาชน ที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 โดยเฉพาะให้ ส.ว.ใช้ฉันทามติของประชาชนในการทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล หากไม่ประสงค์จะทำหน้าที่ควรลาออกจากสมาชิกภาพ

3.สมาชิกรัฐสภาต้องจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยมีข้อเสนอเฉพาะหน้า ดังนี้

3.1 ยกเลิกมาตรา 272 ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ในระหว่างการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

3.2 ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องข้างต้น จึงขอให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ได้รวมตัวกันแสดงออกอย่างสันติวิธี เพื่อเคลื่อนไหวกดดัน บอยคอต ใช้กลวิธีสัตยาเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจคอร์รัปชันโดยมิชอบของผู้ที่ต้องการจะสืบอำนาจครอบครองทรัพยากรของแผ่นดิน เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประชาชนและประเทศชาติ

สำหรับเครือข่าย 40 องค์กรฯ ประกอบด้วย

1.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

2.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

3.มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net)

4.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

5.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

6.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)

7.ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move)

8.สถาบันปรีดี พนมยงค์

9.เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)

10.องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)

11.เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ

12.เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง

13.มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

14.กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

15.เครือข่ายประชาชนค้านคอร์รัปชัน (คปต.)

16.กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน (กพส.)

17.เครือข่ายสลัม 4 ภาค

18.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

19.มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม

20.มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

21.สถาบันจิตร ภูมิศักดิ์

22.เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)

23.เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย

24.ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)

25.กลุ่ม Non-Binary Thailand

26.เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ

27.สถาบันสังคมประชาธิปไตย

28.กลุ่มแท็กซี่ทวงคืนความยุติธรรม

29.สหภาพคนทำงานกลางคืน

30.สมาคมส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนเลุ่มน้ำโขง

31.เครือข่ายคนหนุ่มสาว จังหวัดยโสธร

32.ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม

33.ชมรมเด็กฮักถิ่นภูมินิเวศน์ภูพาน

34.เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา

35.เครือข่ายนักรบผ้าถุง

36.กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย

37.กลุ่มสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.40)

38.กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.)

39.เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

40.คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ภาคประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ