นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการที่พรรคก้าวไกลพร้อมเปิดรับพรรคชาติไทยพัฒนาในการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า การเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมนั้น จะเป็นใครก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญคือต้องเป็นมติของพรรคที่จะมารองรับ หรือเป็นความเห็นชอบทั้งพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ยืนยันว่าจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา คือ ยึดมั่นการทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
การส่งเทียบเชิญอย่างจริงจังนั้นยังไม่มี เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเมืองกันว่าจะมีแนวทางไปในทิศทางใด โดยเฉพาะการประชุมสภาฯ จะเกิดสถานการณ์อย่างไร โดยในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ช่วงเช้า ชทพ.จะมีการประชุมพรรคก่อนร่วมประชุมรัฐสภาในการโหวตเลือกนายกฯ เพื่อดูแนวทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนตัวตอบเพียงแค่ว่า แนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ตรงกับ ชทพ. ก็ต้องต่างคนต่างทำงานดีกว่า ส่วนหากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นในส่วนซีกของพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนาจะตอบรับหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่แนวทางของ ชทพ.มีความชัดเจนแล้ว
นายวราวุธ ย้ำว่า ขออย่ากังวลการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และยังคงอยู่ในจุดยืนเดิม พร้อมปฏิเสธข่าวการซื้อตัว ส.ส.เพื่อให้มาสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะ ชทพ.ไม่มีกล้วยและไม่มีเงิน แต่สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งทุกครั้งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลสถานการณ์เปลี่ยนได้ทุกรายชั่วโมง
สำหรับกระแสข่าวการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีการมีการหารือกันเลย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน
"สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพียงแต่ว่ามีเงื่อนไขต่างๆ มากกว่าปกติเท่านั้นเอง เช่น เรื่องของนโยบาย แต่ดูในหลักการและภาพรวมแล้ว การเจรจาในแต่ละฝ่ายย่อมมีข่าวเป็นรายชั่วโมงก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เป็นเรื่องปกติที่เห็นกัน" นายวราวุธ กล่าว
สำหรับท่าทีของ ชทพ.หากมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น เรื่องนี้ยังไม่รู้ ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นใคร จึงเป็นเหตุให้พรุ่งนี้ ชทพ.จะต้องมีการประชุมกันก่อนร่วมประชุมรัฐสภา ซึ่งในฐานะคนการเมืองจึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้น เท่าที่ดูบรรทัดแรกและประโยคแรกในมาตรา 272 ส.ว.มีระยะเวลาการทำงานภายใน 5 ปี ดังนั้นเหลือเวลาอีกนิดเดียว ชทพ.คิดว่าการแก้ไขมาตรา 272 ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาเร่งรีบ มากกว่าที่จะหาตัวนายกรัฐมนตรี