ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สุ่มโทรศัพท์สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "เลือกนายกรัฐมนตรี สังคมแตกแยก?" ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ค.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 37.10% เชื่อมากว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคมไทย รองลงมา 26.64% ค่อนข้างเชื่อ ตามด้วย 20.15% ไม่เชื่อเลย ส่วนอีก 16.03% ไม่ค่อยเชื่อ และ 0.08% ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ 60.53% เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถอยู่บริหารประเทศได้ครบเทอม 4 ปี รองลงมา 15.34% คาดว่าอยู่ได้ประมาณ 2 ปี ตามด้วย 11.91% คาดว่าอยู่ได้ประมาณ 1 ปี แค่อีก 6.95% คาดว่าอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน, 3.28% คาดว่าอยู่ได้ประมาณ 3 ปี และ 1.99% ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะที่ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ความขัดแย้งกรณีการเลือกนายกรัฐมนตรี" จากการสุ่มตัวอย่างทางออนไลน์จำนวน 1,809 คน ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มองว่ากรณีดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการมุ่งหาแต่อำนาจจนเกินขอบเขตและแย่งชิงผลประโยชน์ โดยแนวทางการยุติความขัดแย้ง คือควรเคารพเสียงจากการเลือกตั้ง สำหรับบทเรียนจากความขัดแย้งครั้งนี้คือ ทุกคนมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันได้ แต่ควรเคารพซึ่งกันและกัน และหลังจากนี้ไปจะได้เห็นภาพการเมืองไทยที่แย่ลง