นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การหารือกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้มีวาระสำคัญ คือ จะนำการบ้านที่ 8 พรรคร่วมมอบหมายให้กับพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำไปดำเนินการ ทั้งการพูดคุยกับพรรคการเมืองต่าง ๆ และ การสอบถามความเห็นของ สว.ถึงเงื่อนไขที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
"โจทย์เรานำข้อมูลที่ได้รับมา เข้าสู่ที่ประชุม 8 พรรค และพิจารณาทางออก ทางเลือกทั้งหมด ส่วนจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่ที่ประชุม ยังตอบไม่ได้ว่าจะออกมามุมไหน" นพ.ชลน่าน ตอบคำถามที่ว่าข้อเสนอส่วนใหญ่ของบรรดาพรรคการเมืองนอกเหนือจาก 8 พรรคคือต้องไม่มีพรรคก้าวไกล
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการสลายขั้ว 8 พรรค เพราะสิ่งสำคัญคือ 8 พรรคต้องพูดออกมา คิดได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เราเป็นแค่หนึ่งในองค์ประกอบนั้น เราเสนอได้แต่ที่ประชุมเห็นอย่างไรก็ต้องว่ากัน
ส่วนจะมีวันที่พรรคเพื่อไทยถอยออกมาหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คำถามในอนาคตตอบยาก แต่เราเคารพในที่ประชุม 8 พรรคร่วม โอกาสของประเทศชาติบ้านเมือง และโอกาสที่จะมีรัฐบาลมาประกอบกัน เข้าใจดีว่าทุกฝ่ายจับจ้องมายังพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะเคารพความเห็นใน 8 พรรคร่วม
สำหรับการพูดคุยกับ สว.นั้น พรรคมีคณะทำงานไปพูดคุยกับ สว.เป็นรายบุคคล ไม่มีการเชิญตัวแทน สว.มาพูดคุยกันพรรคเหมือนกับที่เชิญบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งตนเองก็จะประสานพูดคุยกับ สว.ที่รู้จักกัน และนำผลจากการพูดคุยมาสรุปก่อนจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม 8 พรรคในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.)
"เป็นคำตอบของสว.แต่ละคน เราก็นำเป็นข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุม 8 พรรค แต่ที่ได้พูดคุยกับ สว. หลายคนบอกว่า ไม่ได้ยึดติดว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่เจตนารมย์ก็ยึดหลักการเดิมเหมือนที่เคยนำเสนอที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค."
ส่วนที่มีข้อเสนอว่าหาก 2 พรรคหมดปัญญาจัดตั้งรัฐบาล จะมอบให้กับพรรคที 3 นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่อยากขยายความ เพราะจะตีความผิด ซึ่งความหมายทางเลือกมีมาก ซึ่งการมอบให้พรรคที่ 3 ก็ถือเป็นทางเลือก แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ทราบ แต่จะเป็นการมอบให้กับเสียงข้างน้อย แต่ตอนนี้เราพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในฐานะเป็นแกนนำใน 8 พรรคร่วม
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงข้อเสนอของนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ที่แนะนำให้ 8 พรรคร่วมรอ 10 เดือนเพื่อให้สว.หมดวาระไปก่อนว่า ข้อเสนอนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องดูในรายละเอียดว่าผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามที่เราคาดหวังหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามหนึ่ง สอง สาม ก็น่าจะลองดู
แต่ระบบรัฐสภาเสียงข้างมาก เรามีหนึ่งเสียง เราพูดอะไรเราชนะคนสองเสียงไม่ได้ เรายังอยู่ภายใต้ 749 แม้เราอยากเสนอขอจับมือไป 10 เดือน แต่ถ้าเสียงข้างมากใน 749 เขาไม่ยอม แทนที่จะได้ตามที่เราอยากได้ กลับกลายเป็นการส่งเสริมมอบอำนาจให้ในสิ่งที่ทุกคนคิดว่าไม่อยากทำ ข้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ตลอด นี่คือ ผลกระทบด้านการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่าลืมว่า สส.หนึ่งคนมีสิทธิเท่ากัน แต่ใครมีเสียงมากกว่าในระบบเสียงข้างมาก
"สิ่งที่พึงระวัง เราคิดแบบโลกสวยไม่ได้ในมุมการเมือง มันมีหลายมิติ ต้องเอามาประกอบมาคิดกัน ว่า ถ้าเกิดเราไม่ทำแพ็คกันแน่นแบบนี้ แล้วคนอื่นเขาไม่มีวิธีคิดหรือ เขาก็วิธีคิด ประเทศเป็นเจ้าของ เขาก็เป็นเจ้าของใช่หรือไม่ ถ้าเขารวมเสียงข้างมากได้ในที่ประชุมรัฐสภา ถามว่าเราจะทำอะไรได้ เราก็ต้องยอมรับ"นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้านข้อเสนอให้เลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปจากวันที่ 27 ก.ค.นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การเลื่อนประชุมเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะนำความเห็นของวิปทั้ง 3 ฝ่ายในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.ค. หากฝ่ายพรรคเพื่อไทยพร้อม แต่อีก 2 ฝ่ายยังไม่พร้อม ทางประธานก็สามารถเลื่อนได้
พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้นำเรื่องการเลื่อนโหวตมาหารือกัน และผลการหารือใน 8 พรรคร่วมคงนำมาประกอบในการตัดสินใจ แต่เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยยังคงเดินหน้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้