นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ระบุถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยกังวลการใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ห้ามเสนอชื่อบุคคลซ้ำเป็นรอบ 2 เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะเห็นว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เดดล็อก การประชุมรัฐสภาวันนั้นมีเวลาน้อย ซึ่งตนพยายามอธิบายแล้วว่า สิ่งสำคัญต้องยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง บัญญัติชัดเจนเสนอชื่อได้ 1 ครั้ง เสนอชื่อซ้ำไม่ได้ เพราะระบุว่าไม่อาจแต่งตั้งชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ ตามมาตรา 88 เมื่อไม่มีใครเสนอคนในบัญชีต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้ว เขาจึงบัญญัติไว้ในวรรคสองให้ยกเว้นเสนอชื่อคนในบัญชี เมื่อยกเว้นได้ รัฐธรรมนูญเขียนต่อไว้ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบคนในบัญชีก็ได้ แปลว่าจะเอาคนนอก หรือคนในบัญชีเดิมก็ได้ แต่ต้องดำเนินการให้หมดบัญชีก่อน แล้วค่อยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา หรือ 500 เสียง เพื่อยกเว้นหลักการตามวรรคหนึ่ง
"ชื่อในบัญชีเดิมเสนอซ้ำได้ แต่ต้องหลังจากที่ที่ประชุมเห็นพ้องกันแล้วด้วยเสียง 2 ใน 3 ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องข้อบังคับ เพราะนั่นเป็นเพียงส่วนประกอบบัญญัติ เพื่อให้กระบวนการเสนอญัตติสามารถทำได้โดยสะดวก ราบรื่น ที่บอกว่าข้อบังคับฯข้อ 41 เขียนไว้ว่า เว้นแต่ประธานจะเห็นว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง คำว่าเปลี่ยนแปลงที่ว่า ไม่ใช่หมายถึงการอยากจะคิด หรือจะทำอะไรก็ได้ แต่หมายความถึงเสียงที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 บอกไม่ใช้บทบัญญัติบัญชีเดิม" นายเสรี กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าถ้าได้เสียง 2 ใน 3 แล้ว สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ได้ แต่ถ้านายพิธาไปติดเรื่องคุณสมบัติรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่าโอกาสเกิดรัฐบาลปรองดองจะเป็นไปได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่อาจไม่ใช่การรวมทุกพรรคการเมือง จะมีเพียงพรรคก้าวไกลที่อาจไม่ได้เข้าร่วม เพราะเป็นพรรคที่มีจุดยืนแตกต่างจากพรรคอื่นๆ ส่วนการเปิดทางนายกฯ คนนอกก็มีโอกาสเกิดได้เช่นกัน แต่อยู่ที่พรรคการเมืองตกลงร่วมกันว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และต้องได้เสียงส.ส. เกิน 251 เสียงขึ้นไป