ทีมโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยผลการประชุม สส. เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และการกำหนดทิศทางการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล โดยมีข้อสรุปว่า พรรคก้าวไกล ยืนยันจะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. เป็นที่แน่ชัดว่าพรรคพลังประชารัฐมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรครวมไทยสร้างชาติมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้ง 2 เป็นหัวหอกหลักในการยึดอำนาจ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ซ้ำยังมีกระบวนการสืบทอดอำนาจตนเอง ผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยกลไกและองค์กรสถาบันทางการเมืองต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
2. พรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนต่อประเด็นการสืบทอดอำนาจ และประกาศตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 65 ว่าจะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ และได้ประกาศย้ำต่อประชาชนในทุกรายการ ทุกเวทีหาเสียงเลือกตั้ง
3. ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.66 เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จนชนะเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 เมื่อรวมกันได้ 8 พรรคการเมืองที่มีแนวทางยุติการสืบทอดอำนาจ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 312 จาก 500 ที่นั่ง และมีคะแนนดิบสูงถึง 27 ล้านเสียง
"ไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่านี้ ว่าประชาชนต้องการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างรัฐบาล ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จ เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม"
4. แม้กลไก สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะสกัดขัดขวาง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เรายืนยันว่าสิ่งสำคัญในวันนี้ ไม่ใช่ "พิธา" เป็นนายกรัฐมนตรี หรือก้าวไกลเป็นรัฐบาล แต่คือการจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วย 8 พรรคตามมติประชาชน พรรคก้าวไกลจึงเปิดทางให้พรรคอันดับ 2 คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เดินหน้าหาเสียงสนับสนุน
5. แม้การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด จะมีความสำคัญต่อการเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่เราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง จะนำไปสู่วิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย จนอาจยากต่อการเรียกกลับคืน
6. พรรคก้าวไกล จึงขอยืนยันสัจจะที่ให้ต่อประชาชน เราไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคร่วมไทยสร้างชาติ และจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการผนึก 8 พรรคการเมืองที่สะท้อนเสียงของประชาชนกว่า 27 ล้านเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน พาประเทศไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย อันมีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน