นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการถกเถียงกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องข้อบังคับการประชุมที่ 41 ว่าจะสามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการเลือกเป็นนายกฯ รอบที่ 2 ได้หรือไม่ว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องการเลื่อนโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 27 ก.ค.นั้น ก็เป็นธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ว่าจะเลื่อนไปนานขนาดไหน ระหว่างนี้ก็คุ้มครองชั่วคราวไปก่อน แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่ง ซึ่งตนคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะไม่ใช้เวลานาน เพราะเป็นปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ต้องให้เวลาพอสมควรเพื่อให้อีกฝ่ายชี้แจง
นายวิษณุ ยังมองในแง่ดีว่าในเดือนส.ค.จะได้รัฐบาลใหม่ แต่อาจยังทำงานไม่ได้ เพราะต้องตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ รวมถึงแถลงนโยบายก่อน แต่หากเลยเดือนส.ค.ไป ตนเป็นห่วงว่าจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเกษียณอายุหลายจังหวัด แต่รัฐบาลรักษาการยังสามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้ โดยต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ส่วนงบประมาณก็ใช้งบกลางปี 2566 ไปพลางก่อน ทั้งในส่วนของงบทำการ เงินเดือน และค่าตอบแทน ส่วนการทำโครงการใหม่ๆ นั้นทำไม่ได้ รวมทั้งการเสนอกฎหมายงบประมาณเข้าสภาฯ ก็ทำไม่ได้
"อยู่ในช่วงเวลาที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้ว 11 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน ใจหายใจคว่ำ แต่ก็ผ่านไปได้ ซึ่งไม่เหมือนปัญหาอย่างทุกวันนี้ แต่จะน่าตื่นเต้น โลดโผน และเราก็นึกว่าแย่แล้ว แต่มันก็ไม่แย่ แล้วก็ผ่านพ้นไปได้" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนในประเด็นเรื่องของนายกฯ คนนอก หากหาทางออกไม่ได้จริงๆ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ยากมาก เพราะการที่จะมีนายกฯ คนนอกจะต้องใช้มาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งต้องอาศัยเสียง 500 เสียง และยังต้องอาศัยเสียง 376 คนอีก วุ่นวาย ยุ่งยากหลายขั้นตอน ไม่มีใครคิดไปถึงขั้นนั้น
นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะถ่วงเวลาไปอย่างนั้น แม้กฎหมายจะเปิดช่อง เพราะรัฐบาลจะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการก็ลำบาก จะใช้งบกลางก็ลำบาก จะเสนองบประมาณใหม่เข้าสภาก็ไม่ได้ และในระหว่างนี้อาจจะต้องโดนไปตอบกระทู้ รัฐบาลต้องไปตอบเอง
"มันไม่ได้ลำบากยากเย็นในการที่จะตั้งรัฐบาลขนาดนั้น เพียงแค่หนักนิดเบาหน่อย ถอยหน่อย มันก็สามารถทำได้ ตนถึงได้บอกว่ารัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่ได้อยากจะอยู่อย่างนั้น ฝ่ายเขาเองก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้น และประชาชนยิ่งไม่อยากใหญ่ อยากเห็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตาม ช่วยมาเป็นรัฐบาลทีเถอะ"
ในระหว่างที่มีการคัดสรร สว.ชุดใหม่ สว.ชุดเก่าจะต้องรักษาการต่อไป แต่ไม่สามารถมีส่วนในการเลือกนายกฯ ได้ในช่วงรักษาการนี้ เพราะการเลือกนายกฯ เขาล็อคเอาไว้ 5 ปี พอครบ 5 ปีในวันที่ 11 พ.ค.67 ก็หมดไป ซึ่ง สว.ก็หมดไปด้วย สว.ที่อยู่เขาให้อยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ตามมาตรา 272 ไม่ใช่การเลือกนายกฯ
ทั้งนี้ บทบัญญัติของการคัดสรร สว.ใหม่ เขียนไว้อยู่หลายมาตรา ถ้าจะแก้ก็ต้องรื้อ แต่ตนคิดว่าไม่มีใครคิดทำอย่างนั้น นอกจากว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ