นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) คาดไม่น่าจะเกินวันที่ 4-5 พ.ค.นี้รัฐบาลจะยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาได้ เนื่องจากตามข้อบังคับกำหนดว่า เมื่อมีการยื่นร่างแล้วให้ประธานรัฐสภาพิจารณาบรรจุระเบียบวาระภายใน 15 วัน ซึ่งครบวันสุดท้ายที่จะปิดสมัยประชุมสภาสามัญในวันที่ 19 พ.ค.นี้
ส่วนระยะเวลาในการอภิปรายวาระแรกขั้นรับหลักการนั้นไม่ได้กำหนดเวลาขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ แต่เชื่อว่าจะมี ส.ส.และ ส.ว.ร่วมอภิปรายมากถึง 200 คน แต่หากเสียงข้างมากของสภาฯ ซึ่งรัฐบาลมี 316 เสียงเห็นว่าควรปิดอภิปรายเมื่อไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น
กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น นายสุขุมพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีเจตนาซ่อนเร้น แต่เป็นการอ้างถึงเลขมาตราที่เปลี่ยนไป เพราะเมื่อมีการแก้ไขแล้วบางมาตราอาจย้ายไปอยู่อีกหมวดหนึ่ง จึงต้องเขียนเพื่ออ้างถึงมาตราเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550
"อย่างเรื่องสิทธิทรัพย์สินจากเดิมอยู่หมวด 3 เมื่อแก้ใหม่อาจไปอยู่หมวดใหม่แต่ก็มีนัยเหมือนเดิม คนอ่านคงอ่านไม่เข้าใจมากกว่า" นายสุขุมพงศ์ กล่าว
รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้วิปรัฐบาลหมดหน้าที่ในการนำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว หลังจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะเห็นชอบกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่พรรคนำเสนอหรือไม่
อนึ่ง มาตรา 37 ระบุว่า บทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญ 2550 กฎหมาย หรือกฎที่อ้างถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่า บทบัญญัติที่ถูกอ้างถึงนั้นเป็นการอ้างถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--