นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งไม่ทราบว่ามีเจตนารมณ์หรือเหตุผลใดรัฐธรรมนูญ 60 จึงเขียนไว้แบบนั้น เพราะประเทศอื่นไม่ได้ห้ามไว้ ซึ่งกรรมการบริหารพรรค คงต้องหารือกันว่าจะเลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ตนไม่ขอก้าวล่วง เพราะได้ลาออกจากคณะกรรมการบริหารพรรคไปแล้ว
และไม่ทราบรายละเอียดว่ามีการหารือกันหรือยัง เนื่องจากตนไม่ได้เข้าประชุมพรรค และเป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรคที่ตนได้ลาออกมาแล้ว
โดยตนพร้อมที่จะทำงานในทุกบทบาท ตอนนี้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ทำตามที่ประกาศวิสัยทัศน์ไว้ ทั้ง Smart และ Open parliament และคงไม่ได้เสียดาย เพราะหากไม่ได้เป็นรองประธานสภาฯ ก็ยังมีบทบาทของ สส. และกรรมาธิการฯ ที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มภาคภูมิเช่นกัน ไม่ได้รู้สึกเสียดายแต่อย่างใด
"หากต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ ก็จะไปผลักดันนโยบายสภาของประชาชน ในคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีข้อเสนอหลายอย่างที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เห็นด้วย...ขณะนี้ขอโฟกัสที่งานของตัวเอง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไปเป็นพรรคเพื่อไทยแล้ว และไม่เสียใจ แม้จะตั้งความหวังในการทำหน้าที่นี้ไว้มาก" นายปดิพัทธ์ ระบุ
กรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะมีเงื่อนไขอย่างไรนั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ นายพิธากำลังเจอความไม่แน่นอนจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ และให้ถึงเวลานั้นก่อนค่อยมาคุยกันว่าต้องทำอย่างไร แต่จะมีโอกาสเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เพื่อรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ
นายปดิพัทธ์ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีมีกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยจะกลับมาเจรจาให้พรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลอีก เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายเจรจาจะไปหารือกัน ตนถือว่าเป็นคนที่อยู่วงนอกแล้ว
"รู้สึกแปลกๆ ที่พรรคอันดับ 1 ชนะการเลือกตั้ง เสียงอันดับ 1 ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เป็นประธานสภาฯ ไม่ได้เป็นรองประธานสภาฯ และคิดว่าความแปลกพวกนี้ เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 60 กับการสืบทอดอำนาจของคสช. ซึ่งคิดว่าอย่าไปคิดเป็นสาระที่จะต้องยึดเอาไว้" นายปดิพัทธ์ กล่าว