นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย
ประการแรก ในการทำประชามติในรอบแรกจะต้องชนะสถานเดียว เพราะหากแพ้หมายถึงรัฐธรรมนูญปี 60 จะได้รับการมัดตราสังข์ ด้วยยันต์กันภัย และอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน
"อันนี้คือความกังวลใจข้อหนึ่ง ถ้าเกิดไปจัดประชามติแล้วแพ้ขึ้นมายุ่งเลย ดังนั้นถ้าทำกันจริงๆ ต้องช่วยกันรณรงค์ เพราะงานนี้แพ้ไม่ได้ เพราะถ้าแพ้รัฐธรรมนูญปี 60 จะอยู่กับเราไปตลอดชั่วกัลปาวสานแน่นอน"
ประการที่ 2 การออกเสียงประชามติ ประเด็นสำคัญคือการตั้งคำถาม ซึ่งขณะนี้มีเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่เขียนคำถามออกมาไว้อย่างชัดเจน กลุ่มที่ 1 คือ ภาคประชาชนตั้งคำถามว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน"
อีกกลุ่มคือพรรคก้าวไกลที่ต้องการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางของรัฐสภา เพื่อทำประชามติด้วยการตั้งคำถามว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่ปี 60 โดย สสร.ที่มาจาการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน"
แต่พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ระบุคำถามชัดเจนในขณะนี้ คาดว่าจะต้องนำเข้าที่ประชุมครม.เพื่อสอบถามพรรคร่วมรัฐบาลก่อน
นายปิยบุตร ยกประเด็นความสำคัญของคำถามในการทำประชามติว่า การทำประชามติในอดีตเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 มีคำถาม 2 คำถาม คือ โหวตเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 60 หรือไม่ และคำถามพ่วงที่เขียนสลับซับซ้อนมาก อ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่ผลลัพธ์ คือ ทำให้ สว.ชุดนี้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 5 ปี
"เพราะฉะนั้น คำถาม ถ้ามันไม่ชัด ถ้ามันมีการซุก มีการซ่อน ถึงเวลาประชาชนอ่านไม่เข้าใจ ดังนั้นคำถามต้องชัดตั้งแต่แรก"
ประการที่ 3 คือ รูปแบบ สสร. นายปิยบุตร ยืนยันการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จริงๆแล้วไม่ต้องมี สสร. ก็ได้ ใช้รัฐสภาทำใหม่ทั้งฉบับก็ได้ แต่ถ้าจะมี สสร. จะมีที่มาอย่างไร เลือกตั้งหรือจัดตั้ง ตรงนี้ควรต้องชัด
"ถ้ามาจากเลือกตั้ง จะทั้ง 100% หรือ เลือกตั้งบางส่วน แต่งตั้งบางส่วน หรือจะแบ่งสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรต้องออกแบบกันให้ชัด ที่สำคัญการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งจะเป็นอย่าไง"
นายปิยบุตร กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว หากจะมี สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สสร.ควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยเสนอใช้ระบบสัดส่วนและใช้ประเทศไทยเป็นเขตเลือกตั้ง คำนวณผ่านระบบสัดส่วนเหมือนกับการเลือกตั้ง สส.ระบบบัญชีรายชื่อ
ประการที่ 4 กรณีมีข้อกังวลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะล้มล้างการปกครอง เปลี่ยนระบอบหรือไม่นั้น นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. นั้น เป็นการแก้รัฐธรรมนูญตามกลไกของรัฐธรรมนูญปี 60 ดังนั้น จึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของปี 60 อยู่แล้ว ซึ่งข้อจำกัดอยู่ในมาตรา 255 ชัดเจน คือ การแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบระบอบการปกครองทำไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่กังวลไปล่วงหน้าว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะเปลี่ยนระบอบการปกครอง จึงทำไม่ได้ เพราะล็อกไว้หมดแล้ว
ประการที่ 5 เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไร พรรคการเมือง หรือ สส. ควรออกมาให้ความเห็น อย่าโยนให้เป็นหน้าที่ของสสร. การทำใหม่เนื้อหาต้องเปลี่ยนด้วย การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีนัยสำคัญ ต้องแก้ในแก่นสาระสำคัญด้วย อาทิ สืบทอดอำนาจ วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หากไม่กล้าแตะเรื่องพวกนี้คงไม่จำเป็นต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"เรียกร้องให้สส. พรรคการเมืองพูดเนื้อหาเยอะๆ ไม่ใช่พูดแค่ว่า มีสสร. เมื่อไหร่จบ...ไม่ใช่เซ็นเช็คเปล่าให้ สสร."
ประการที่ 6 ในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรต้องกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางให้รัฐบาลแต่ละชุดอยู่ไปเรื่อย ไม่ยอมยุบสภา ยื้อไปเรื่อยๆ ด้วยข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ
"คล้ายครั้งปี 57 ถ้าไม่ผ่าน คสช.ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่รับปากว่ายุบสภาเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ แต่ไม่ได้เขียนตารางเวลาไว้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่"