วิป 3 ฝ่าย ตกลงโหวตนายกฯ 22 ส.ค. คาดลงมติบ่าย 3 ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์

ข่าวการเมือง Friday August 18, 2023 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิป 3 ฝ่าย ตกลงโหวตนายกฯ 22 ส.ค. คาดลงมติบ่าย 3 ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย เห็นชอบกำหนดการพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ส.ค. นี้ พร้อมกำหนดกรอบเวลาการโหวต เริ่มเวลา 10.00 น. จากนั้นจะให้เวลา สส. และ สว.อภิปรายราว 5 ชม. คาดว่าจะเริ่มการลงมติได้เวลา 15.00 น.

"ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย มีมตินัดประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันอังคารที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และให้มีการอภิปรายในเรื่องผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยให้เวลา สส.ไม่เกิน 3 ชั่วโมง และสว.อีก 2 ชั่วโมง โดยจะลงมติไม่เกิน 15.00 น. คาดว่าเสร็จสิ้นในเวลา 17.30 น." ประธานรัฐสภา ระบุ

สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ประธานฝ่ายกฏหมายของสภาฯ ได้นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ถูกเสนอชื่อฯ จะต้องแถลงวิสัยทัศน์ อีกทั้งข้อบังคับรัฐสภา ไม่มีข้อกำหนดว่า ผู้ถูกเสนอชื่อฯ ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ รวมทั้งที่ประชุมของคณะกรรมาธิการที่ร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่า ไม่ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์

นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐสภาเมื่อปี 2563 ที่ประชุมมีมติว่าไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ ดังนั้นประธานรัฐสภาจึงต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับดังกล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า สำหรับวาระการประชุมในวันที่ 22 ส.ค.นี้ มีเรื่องที่เลื่อนจากการประชุมครั้งที่แล้ว คือ เรื่องแรกญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ขอให้มีการทบทวนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำ ซึ่งที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายเห็นด้วยให้นายรังสิมันต์ ได้เสนอเจตนารมณ์ของการเสนอญัตติ แต่ก็เห็นว่าในข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ ซึ่งหากนำมาทบทวน จะเกิดปัญหาว่ามติของรัฐสภาจะสามารถทบทวนได้เรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความไม่น่าเชื่อถือต่อมติของรัฐสภา

"ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เห็นว่าเมื่อได้มีการเสนอเรื่องนี้ ขอให้ใช้อำนาจของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และ ข้อบังคับที่ 5 และ 151 ไม่รับเป็นญัตติด่วน แต่นำมาเสนอได้...ถ้ามีการทบทวน ก็จะมีปัญหาขึ้นมาใหม่ และมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงมติไปแล้ว อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บอกให้สภาฯ ต้องทบทวนในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้นจึงจะดำเนินการตามนี้" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ