นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (กก.) กล่าวว่า จะมีการเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาญัตติที่เสนอด้วยวาจา ขอให้ทบทวนมติที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลซ้ำ พร้อมระบุว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาสาระ เพราะมีผลทางเทคนิค ดังนั้นรัฐสภายังสามารถทบทวนได้
"ให้โอกาสสภาได้พิจารณา เมื่อได้ทำพลาดไป ซึ่งคงไม่ต้องลงในรายละเอียดว่าพลาดอะไรไปบ้าง ดังนั้น ยืนยันว่าจะเสนอจะญัตตินี้ต่อไป" โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุ
ส่วนทิศทางโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หวังให้ชนะ แต่สุดท้ายคงไม่ใช่เราเป็นผู้ตัดสิน แต่ขอพูดตรงไปตรงมา หากเราทำลายหลักการเกินไป สุดท้ายจะกลายเป็นบรรทัดฐานและกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการที่จะใช้กลไกของสภาในการเสนอชื่อบุคคล ไม่ใช่มีเพียงแค่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายตำแหน่ง ดังนั้นต้องระวังให้มากในการที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นบรรทัดฐาน
"สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามเสนอ ถ้าคุณไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกล หรือนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี มันเลยขั้นตอนนี้ไปแล้ว ทำไมจะต้องทำลายหลักการการเลือกนายกรัฐมนตรี ตอนนี้คุณทำอะไรไม่ได้แล้ว คงไม่มีการเสนอชื่อซ้ำอีกรอบ เพราะคงเป็นไปไม่ได้ และต้องยอมรับว่า ในสมัยประชุมนี้ เสนอไม่ได้แล้ว ส่วนในอนาคตข้างหน้า ค่อยไปว่ากัน" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวตอบคำถามว่า หาก สว.ไม่โหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทจากพรรคเพื่อไทย อาจจะได้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น หวังว่าคงไม่ไปถึงจุดนั้น เพราะหากเป็นรัฐบาลลุง ก็เป็น เรื่องยากที่เราจะรับไหว
"ในฐานะที่เป็นสส. และสัมผัสกับประชาชน ก็รู้สึกผิดหวังในเรื่องนี้ ว่าประเทศของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เท่ากับเราต้องอยู่แบบเดิม และพรรคการเมืองที่น่าจะเป็นพันธมิตรกับเรา ก็นำมาซึ่งความผิดหวัง แต่ไม่เป็นไร ก็ต้องเดินต่อ แล้วทำหน้าที่อย่างดีที่สุดอย่างตรงไปตรงมา" นายรังสิตมันต์ ระบุ
ส่วนในอนาคตจะทำงานกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องกระบวนการในสภา และเราก็ต้องหาเสียงจากทุกฝ่ายในการผลักดันกฎหมาย
ส่วนเรื่องของตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่า ในพรรคยังไม่ได้พูดคุยกัน และไม่แน่ใจว่า จะต้องพูดคุยเรื่องตำแหน่งรองประธานด้วย ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรในที่สุดต้องมีรัฐบาลก่อน และการที่ต้องตัดสินใจในเวลานี้ อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
สำหรับความพร้อมของพรรคก้าวไกล ในการเป็นฝ่ายค้านนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะเกิดขึ้นได้ต้องมีรัฐบาล แต่ยืนยันจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่จะไม่โหวตให้แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เพราะได้ยืนยันไปหลายครั้งว่า มีลุงไม่มีเรา
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลคงจะมีความชัดเจนแล้ว ซึ่งนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่า มีครบ 314 เสียงก็น่าจะมีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ามาเป็นพรรคสุดท้าย ยอมรับว่าผิดหวัง ไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้ จึงคิดว่าไม่น่าจะเหลืออะไรแล้วที่จะต้องงดออกเสียง ก็คงจะไม่เห็นชอบ
ส่วนผลการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เดายากมาก และยังเอาใจช่วยให้การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี ส่วนการดำเนินการของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้ก็ต้องให้ความเคารพในการตัดสินใจ แต่ไม่ว่าการตัดสินใจอะไรไปมันจะต้องมีผลที่จะตามมาแน่นอน
"เราก็ได้พูดไปบ้างแล้วว่า การตัดสินใจครั้งนี้มันมีราคาที่จะต้องจ่าย ไม่ได้หมายความว่าเอาเงินไปจ่าย แต่มันมีต้นทุนที่สูงมากที่เขาจำเป็นจะต้องแบกรับไว้ และการไม่ฟังเสียงของประชาชน หันหลังให้คำสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน มันคงต้องมีอะไรตอบแทนไปมากกว่าการจัดตั้งรัฐบาล ที่อยู่เบื้องหลังที่เขาจำเป็นจะต้องทำ ก็คงต้องพยายามทำความเข้าใจ" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา ยังประเมินอายุของรัฐบาลเพื่อไทยว่า แง่ดีหากสามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จาก สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งสำเร็จก็จะยุบสภาทันที ดังนั้นกรอบเวลาก็ค่อนข้างที่จะชัดเจน ขึ้นอยู่กับอายุของ สสร.ว่าจะมีอายุเท่าไร เช่น ถ้า สสร.ทำงาน 6 เดือน รัฐบาลก็จะมีอายุได้ 2 ปีก็น่าจะจบแล้ว ถ้ากรอบระยะเวลาของ สสร.ยาวออกไปก็น่าจะนานกว่านั้น ทั้งนี้ก็ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้ทำงานดูว่าจะมีข้อขัดแย้งกันเองอย่างไรหรือไม่ แล้วยุบสภาก่อนโดยที่ยังไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญแก้เสร็จ แต่ไม่ถึง 4 ปีแน่นอน เพราะกรอบระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญยังไงก็ไม่ถึง 4 ปี ถ้าเกิน 4 ปีคือมีเจตนาที่จะยืดระยะเวลาออกไป
ส่วนตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ นั้น วันนี้สถานะของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ยังอยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นก็จะไม่มีหัวหน้าพรรคในสภา และพรรคก็ไม่รีบที่จะตัดสินใจว่าจะเอาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ คงจะรอให้คดีของนายพิธา คลี่คลายก่อน แม้การจัดตั้งร้ฐบาลเสร็จสิ้นก่อนก็ไม่ได้มีผลอะไร เพราะสถานะของผู้นำฝ่ายค้านฯ ไม่มีผลอะไรในการทำงานในฐานะฝ่ายค้านเลย แต่อาจจะมีผลในเรื่องการเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ
"เมื่อหัวหน้าพรรคของเรายังไม่ได้เข้าสภา เราก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว