นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการสอบสวนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เพราะเหตุมีชื่อถือครองหุ้น บมจ.ไอทีวี (ITV) จำนวน 42,000 หุ้นว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ และขณะนี้เรื่องมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ต้องรอพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร โดยเฉพาะจะต้องดูที่เจตนา หากไม่มีเจตนาก็ไม่มีความผิด จะต้องพิสูจน์เจตนา เนื่องจากเป็นคดีอาญา คำร้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนอยู่ หากเข้าข่ายการให้คุณให้โทษจะต้องมีการเชิญมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แตกต่างจากเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลและปรากฏในเอกสารราชการอยู่แล้ว โดยกระบวนการทั้งหมดอยู่ระหว่างพิจารณา
"เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ กกต.พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามกฏหมายมีอยู่ 3 ลักษณะที่จะทำให้พ้นจากตำแหน่งกรณีการถือหุ้นสื่อ โดย 2 ลักษณะแรกมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นแนวทางแล้ว ขณะที่กรณีนี้มีข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างกัน กกต.ไม่ใช่คนตัดสิน เพราะผู้ที่ตัดสินคือศาลรัฐธรรมนูญ" นายแสวง กล่าว
ส่วนการร้องยุบพรรคก้าวไกล กรณีนโยบายหาเสียงที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำนักงาน กกต.โดยตนในฐานะนายทะเบียนที่กำกับดูแลพรรคการเมืองก็ได้มอบหมายให้ไปตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมด้วย
สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องยุบพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้ได้พิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว 111 เรื่อง จากคำร้องทั้งหมดจำนวน 135 เรื่อง คงเหลืออีก 24 เรื่อง ประมาณ 10 พรรคการเมือง ส่วนใหญ่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่
นายปกรณ์ มหรรณพ กกต. ชี้แจงถึงกรณีตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิธาว่า ยืนยันแน่ชัดว่าในปี 62 ไม่มีการแจ้งจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าถือหุ้น อันนี้คือประเด็นที่ต้องพิจารณาว่านายพิธา ถือหุ้นในฐานะอะไร เช่นเดียวกับอดีต สส.ระยอง พรรคก้าวไกล (นายนครชัย ขุนณรงค์) ได้ตรวจหลักฐานจากศาลจังหวัดชลบุรีไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิด เหตุเกิดเมื่อปี 42 ทะเบียนประวัติมีปี 43 เป็นปีที่ตั้งศาลพัทยาก็ได้สอบถามไปศาลพัทยาเพื่อความถูกต้อง ก็ตอบกลับมาว่าไม่มี กกต.มีหลักฐานทุกอย่าง ทำตามกฎหมายทุกอย่าง เมื่อไม่มี กกต.ต้องประกาศรับรองไป แต่ภายหลังหลักฐานปรากฏ กกต.ก็ดำเนินการตามกฎหมายทันที
"อยากจะชี้ให้เห็นว่าเรายินดีรับกระสุน เรายินดีเตรียมน้ำไว้สำหรับรถทัวร์ และอีกอย่างที่อยากจะชี้แจงคือกรณีที่จังหวัดนครนายก แม้ศาลฎีกาจะพิจารณาว่าไม่มีอำนาจครอบงำสื่อ จากการที่ถือหุ้นเพียง 400 หุ้น เป็นดุลยพินิจ ถามว่าทำไมรัฐธรรมนูญไม่กำหนดเรื่องครอบงำไว้ จะไปกำหนดภายหลังในเรื่องการมีส่วนได้เสีย ถ้ากฎหมายกำหนดเรื่องครอบงำไว้ เราจะวินิจฉัยง่าย แต่ กกต.ให้ความเคารพและยอมรับศาลฎีกา เมื่อท่านถือว่าต้องครอบงำ เราก็เคารพ แต่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันทุกองค์กร เคยวินิจฉัยว่าถือหุ้นเพียง 1 หุ้นก็ผิด นี่คือสิ่งที่เป็นความขัดกันของ 2 ศาล ถ้าท่านลักทรัพย์ เอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นถือร่วมอยู่ด้วยโดยทุจริต ท่านผิดฐานลักทรัพย์ แต่กรณีที่หญิงต้องไปลักของในห้างเพื่อลูก ลักนม ผิดแต่ศาลใช้ดุลยพินิจที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เหมือนกันในเมื่อกฎหมายบอกว่าถือหุ้นสื่อแล้วผิด ข้อเท็จจริงว่าผิด ก็ต้องพิพากษาว่าผิด แต่จะใช้ดุลยพินิจเรื่องโทษอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายสบายใจ" นายปกรณ์ กล่าว