นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงแนวโน้มโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ส.ค. ว่า การโหวตของสว. เป็นไปตามหลักการ โดยยืนยันว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่เสนอใครคนนั้นมีโอกาส 95-100% ที่จะได้เป็นนายกฯ
ส่วนประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาน่าจะสนใจ คือ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐาน และมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม ขณะเดียวกัน ความประพฤติต้องเป็นที่ประจักษ์ว่า มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถนำไปบริหารประเทศได้
ดังนั้น การที่จะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังมีข้อกังวล เพราะถูกกล่าวหาว่าสมัยเป็นผู้บริหารบริษัทมหาชน มีพฤติการณ์ทุจริต เลี่ยงภาษี จ้างนอมินีทำให้ราคาที่ดินที่ซื้อไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและมีเงินทอน ซึ่งเป็นประเด็นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลพร้อมหลักฐาน รวมถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐได้นำประเด็นนี้มาร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง วุฒิสภา ซึ่งขณะนี้คณะ กมธ.ได้ทำหนังสือไปสอบถามยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมที่ดิน กรมสรรพากร แล้ว
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติ ที่เราจะนำมาพิจารณานายเศรษฐา รวมถึงเรื่องการประกาศแก้รัฐธรรมนูญ เป็นคำถามใหญ่ที่จำเป็นจะต้องให้ข้อเท็จจริงต่อสมาชิกรัฐสภา เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับนายเศรษฐาที่ถูกกล่าวหาหลายประเด็น ซึ่งเป็นข้อกังวลที่สส. และสว. เป็นห่วง จึงแนะนำนายเศรษฐาว่าจำเป็นต้องทำความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อนมีมติโหวตนายกฯ ซึ่งทางนายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยสามารถชี้แจงต่อประชาชนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดความสง่างามในการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ
"แม้นายเศรษฐาจะไม่ได้เป็น สส. ไม่สามารถเข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ แต่เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ก็สามารถทำหนังสือประธานรัฐสภาขอชี้แจงได้ ประธานก็จะใช้ดุลยพินิจให้นายเศรษฐาเข้ามาชี้แจงได้ด้วยตัวเอง เหมือนกับตัวแทนหน่วยราชการอื่นที่ต้องการเข้ามาชี้แจง หรือสส. สามารถเสนอญัตติให้นายเศรษฐาเข้ามาชี้แจงได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อเสนอแนะส่วนตัว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยจะพิจารณา เพื่อความน่าเชื่อถือของตนเอง" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ต้องเสนอความชัดเจนว่านโยบายนั้นจะนำพาประเทศไปสู่ความสงบเรียบร้อย นำความรุ่งเรืองมาให้ประเทศชาติและประชาชน อย่างประเด็นที่บางคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า หากได้เป็นนายกฯ จะให้มีมติจัดทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งเลือกมาจากตัวแทนทั้งประเทศ
ในประเด็นนี้ ก็ต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องแก้ทั้งฉบับ ในขณะที่ สส. ก็เลือกมาจากตัวแทนทั้งประเทศ เหตุใดไม่แก้เป็นรายมาตรา และมีสาระสำคัญอย่างไรจนต้องแก้ทั้งฉบับ
"หากแก้ทั้งฉบับจะมีขอบเขตอย่างไร เช่น หมวดหนึ่ง ความมั่นคงแห่งรัฐ หมวดสอง สถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายบริหาร ตุลาการ องค์อิสระ ศาล เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะต้องใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว