นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากกรณี 16 สส.ของพรรคฯ โหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นการสวนมติพรรคที่ให้งดออกเสียงนั้น หากเป็นการดำเนินการปฏิบัติที่ทำให้พรรคเสื่อมเสีย หรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณพรรค ก่อให้เกิดความแตกแยก ก็เป็นสิทธิของสมาชิก 20 คนจะเข้าชื่อตั้งกรรมการสอบสวนว่าพฤติการณ์ดังกล่าวสร้างความเสื่อมเสียแก่พรรคหรือไม่อย่างไร
"ขณะนี้มีสมาชิกหลายคน ถึงแม้จะเป็น สส.ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ จะต้องทำหนังสือไปถึงหัวหน้าพรรค เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนเพราะมีความชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการตั้งกรรมการเจรจา เพื่อการจัดตั้งรัฐบาล" นายสาธิต ระบุ
พร้อมเห็นว่า แม้การโหวตจะเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. แต่มติที่ประชุมพรรคก็มีความสำคัญ อาจจะไม่ผิดในแง่จริยธรรม สส. แต่ผิดในแง่ทำให้พรรคเสื่อมเสีย ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามขั้นตอนข้อบังคับที่เขียนไว้ตามกฎหมายพรรคการเมือง
ส่วนจะเป็นความจงใจของ 16 สส.ที่ต้องการให้พรรคขับออกหรือไม่นั้น นายสาธิต กล่าวว่า นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วทุกเรื่องสามารถพูดคุยกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าทำความเสียหายให้พรรคในระดับนี้ หัวหน้าพรรคก็ต้องทำหนังสือตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การกระทำลักษณะนี้ต้องขับออกจากพรรคหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า เป็นไปตามโทษหนักเบา แต่ความเห็นส่วนตัวมองว่า หนักมาก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับพรรคว่ากรรมการบริหารพรรคและ สส.จะพิจารณาว่าอย่างไร
นายสาธิต กล่าวด้วยว่า การเข้าร่วมรัฐบาล จะต้องได้รับการเชิญ หรือมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล ดังนั้นหากใครที่เป็นรักษาการ หรือ สส.ที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรง และไม่ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริหารพรรค ถ้าไปปฏิบัติในสิ่งที่เกินอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติ แล้วทำให้พรรคเกิดความเสื่อม โดยระบบต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านไปแล้ว และมีการประกาศจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคไปแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงต้องไปจัดการภายในพรรค
"ความประพฤติของสมาชิกบางคน เดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่สิงคโปร์ ตอนแรกยืนยันว่าไม่ได้ไปพบ แต่กลับมาให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ ยอมรับว่าไป ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายกับพรรค พฤติกรรมแบบนี้ เข้าข่ายในแง่ไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม และสร้างผลกระทบต่อพรรค ทำให้เกิดความเสียหาย" นายสาธิต กล่าว
พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การโหวตเห็นชอบนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากพรรคเพื่อไทยเมื่อวานนี้ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ ส่วน สส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 15 คนที่โหวตเห็นชอบรวดเดียวช่วงท้ายสุด นั้นไม่ทราบ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า สส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 15 คนที่เหลือไม่สามารถติดต่อได้ บางรายไม่รับสาย บางรายปิดเครื่อง และยังไม่มีใครออกมาชี้แจงถึงกรณีแหกมติพรรคที่เกิดขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวปิดดีลกับพรรคเพื่อไทย เกือบนาทีสุดท้ายก่อนตกขบวน
นายชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี 16 สส.ปชป.โหวตเห็นชอบนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า ไม่ใช่เรื่องตกขบวนหรือร่วมขบวน แต่ในที่ประชุมพรรคเราได้มีการหารือกันแล้วมีความเห็นทั้ง 3 ทาง ทั้งเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง ซึ่งวันนั้นได้ข้อสรุปว่างดออกเสียง แต่ในที่ประชุมรัฐสภาเราได้นั่งฟังคำอภิปรายของสมาชิกเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับนายเศรษฐาที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้แล้วก็คิดว่าไม่มีน้ำหนักอะไรที่จะเป็นปัญหาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
"ผมและเพื่อน สส.จริงๆ แล้ว 16 คนที่โหวตก็หารือกัน ตัดสินใจชั่วโมงสุดท้ายว่าจะโหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญในการโหวตครั้งนี้ไม่ได้ยืนยันว่าจะร่วมรัฐบาล เราจะพร้อมทำงานทั้ง 2 หน้าที่ ทั้งร่วมรัฐบาลและเป็นฝ่ายค้าน ฉะนั้นไม่ใช่ว่าการโหวตครั้งนี้จะเป็นการยืนยันว่าเมื่อโหวตแล้วได้ขึ้นขบวนรถไฟเป็นคนสุดท้าย นี่เป็นความคิดที่เราคิดอยู่" นายชัยชนะ กล่าว
"ถ้าหากฝั่งพรรคเพื่อไทยเชิญร่วมทำงานถือเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการตัดสินใจที่จะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลก็ต้องกลับไปถามกรรมการบริหารชุดรักษาการที่มีอำนาจเต็มร่วมกับ สส.อยู่แล้ว มีมติอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่วันนี้เราจะไปร่วมอย่างไร ไม่มีการส่งเทียบเชิญ ถ้ามีเทียบเชิญมาก็ต้องกลับไปถามที่ประชุมใหญ่" นายชัยชนะ กล่าว