นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี สส.เพื่อไทยไม่เห็นชอบให้มีการเลื่อนญัตติเสนอคำถามประชามติแก้รัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล (กก.) ให้ขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระอื่นเมื่อวานนี้ (30 ส.ค.) ว่า เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าวเนื่องจากพรรคเพื่อไทยเตรียมทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นวาระและนโยบายที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการ อีกทั้งเห็นว่าแม้จะให้สภาฯ พิจารณาเรื่องคำถามประชามติ แต่กระบวนการไม่สามารถจบได้ เพราะตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 กำหนดว่าต้องใช้ความเห็นชอบทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนั้นแม้สภาฯ จะเห็นชอบแล้วแต่ต้องส่งไปยังวุฒิสภาให้พิจารณาด้วย
"ประเด็นที่ต้องใช้มติของสองสภานั้นเป็นปัญหา และอนาคตจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้การเห็นชอบกับเรื่องที่จะทำประชามติหากผ่านสภาฯ สามารถเสนอไปสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้" นพ.ชลน่าน กล่าว
ส่วนแนวคิดในการแก้ไขประเด็นอื่นใน พ.ร.บ.ประชามติ เช่น เกณฑ์ออกเสียงเพื่อให้เรื่องที่ทำประชามตินั้นได้รับความเห็นชอบก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ที่พรรคไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลเพราะมองว่า ต่อให้สภาฯ เห็นชอบแล้วก็ยังไม่จบ ต้องส่งให้วุฒิสภาอีก ซึ่งในหลักการแล้ว สว.อาจจะไม่เห็นชอบทำให้คำถามนั้นตกไป อีกทั้งเรื่องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้นจะถูกกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงต้องการให้เป็นกระบวนการของรัฐบาล
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอ ครม.ให้พิจารณาคำถามประชามติในกระบวนการทำประชามติและลักษณะของคำถาม โดยมีประเด็นใหญ่ คือ คำถามที่เห็นตรงกันในพรรค คือ ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้จัดทำ
"การทำประชามติครั้งแรก คือการตั้งคำถามว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่มีตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ส่วนที่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ยังมี สว.ปัจจุบันดำรงวาระอยู่นั้น ผมมองว่าหากผ่านได้แล้วเชื่อว่ารัฐสภาน่าจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เพราะประชาชนเห็นชอบแล้ว ไม่สมควรฝืนมติของประชาชน และเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มหมวดใหม่ จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องเริ่มจากการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก่อน" นายชูศักดิ์ กล่าว
ส่วนเพื่อไทยจะปัดฝุ่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เคยเสนอไว้ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมาหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างพิจารณา แต่คาดว่าจะทำใหม่ โดยเฉพาะเรื่องกรรมาธิการฯ ที่ถูกวิจารณ์ว่าหากไม่มีกรรมาธิการที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเลยอาจจะมีประเด็นปัญหาได้ ทั้งนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ ส.ส.ร. ดำเนินการ อาจใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง
สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ตนเข้าใจว่า ครม. ต้องเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น รวมถึงจะรับฟังในประเด็นต่างๆ ส่วนคำถามประชามติที่ภาคประชาชนเสนอนั้นต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการตามหรือไม่
กรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญนั้นคงต้องคุยกัน เชื่อว่าจะไปด้วยกันได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคือนโยบายของรัฐบาลที่ถือว่าเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
ส่วนแนวคิดการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติว่าด้วยหลักเกณฑ์ที่เรื่องจะผ่านประชามตินั้นไม่จำเป็นต้องแก้ เพราะสมเหตุสมผลของเนื้อหา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย คือ ประชาชนต้องมาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธินั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว