นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุมตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ โดยมีสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับตำแหน่งประธาน กมธ.และ กมธ.ดังนี้
- พรรคก้าวไกล (กก.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 10 คณะ กมธ. 158 ตำแหน่ง
- พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 10 คณะ กมธ. 148 ตำแหน่ง
- พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 5 คณะ กมธ. 75 ตำแหน่ง
- พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 3 คณะ กมธ. 42 ตำแหน่ง
- พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 3 คณะ กมธ. 38 ตำแหน่ง
- พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 2 คณะ กมธ. 26 ตำแหน่ง
- พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 1 คณะ กมธ. 11 ตำแหน่ง
- พรรคประชาชาติ (ปชช.) ได้ตำแหน่งประธานฯ 1 คณะ กมธ. 10 ตำแหน่ง
- พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้ กมธ. 6 ตำแหน่ง
- พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) และพรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) ได้ กมธ.พรรคละ 2 ตำแหน่ง
- พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) พรรคใหม่ (ม.) พรรคท้องที่ไทย (ท.) พรรคเป็นธรรม (ปธ.) พรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ค.พ.ช.) ได้ กมธ.พรรคละ 1 ตำแหน่ง
โดยทุกพรรคได้สัดส่วนตามที่ระบุไว้ ซึ่งช่วงนี้แต่ละพรรคก็จะต้องไปเจรจานอกรอบว่า พรรคไหนจะได้ประธาน กมธ.คณะไหน ซึ่งในวันที่ 4 ก.ย.66 ให้ทุกพรรคมาประชุมอีกครั้งหนึ่งเพื่อติดตามความคืบหน้า และในวันที่ 14 ก.ย.66 จะเป็นการประชุมนัดแรกของ กมธ.แต่ละคณะ
สำหรับการเลือกประธาน กมธ.นั้นยึดความต้องการของแต่ละพรรคว่า อยากเป็นประธาน กมธ.คณะไหนเป็นหลัก ถ้าไม่ซ้ำกันพรรคนั้นก็ได้ไปเลย แต่ถ้าซ้ำกันก็ต้องมาคุยกันรอบ 2 ซึ่งจากที่ได้มีการพูดคุยกันคาดว่าจะมีซ้ำกันไม่มาก และเชื่อว่าจะจัดสรรได้ลงตัว ส่วน กมธ.ที่มีความต้องการตรงกัน เช่น กมธ.แรงงาน กมธ.การเกษตร กมธ.การปกครองท้องถิ่น แต่เชื่อว่าจะสามารถตกลงกันได้ ซึ่งไม่เกี่ยวว่าพรรคตนเองได้ รมต.กระทรวงไหนก็จะต้องเป็นประธาน กมธ.คณะนั้น อยู่ที่ความต้องการของแต่ละพรรคว่า ถนัดตรวจสอบดำเนินการด้านไหนใน 35 คณะ
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมฯ พรรคก้าวไกลได้ขอให้การเลือกตั้ง สส.ที่จังหวัดระยองเสร็จสิ้นเสียก่อนจึงค่อยจัดสรรเพราะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นหากชนะการเลือกตั้ง แต่ตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคระบุว่า เราควรที่จะอยู่กับปัจจุบันที่มีสมาชิก 499 คน จึงตกลงกันว่าให้เดินตามหลักปัจจุบัน หากรอเลือกตั้งเสร็จกว่า กกต.จะรับรองอาจไม่ใช่แค่ 5 วัน 10 วัน อาจจะเป็นเดือนหรือ 2 เดือนก็ได้ จึงขอเอาจำนวนปัจจุบันก่อน เพื่อให้ได้ทำงานในฐานะ กมธ.ได้ไปพบประชาชนและแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพรรคก้าวไกลชนะและ กกต.รับรองแล้ว ถึงเวลานั้นเมื่อมีมีวิปของแต่ละพรรค รวมถึงวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาล ซึ่งสามารถมาประชุมกันและเปลี่ยนแปลงสัดส่วน กมธ.อีกครั้งได้