นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงความพร้อมในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลว่า พรรคได้เตรียมบุคลากรที่จะอภิปรายครบทั้ง 3 ด้าน คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา โดยมี สส.แสดงความจำนงที่จะอภิปรายไว้แล้ว 15 คน ซึ่งตนจะเป็นผู้อภิปรายเป็นคนที่ 2 ต่อจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จากนั้นจะเป็นนายชวน หลีกภัย และ สส.ของพรรคอีกหลายคน โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่
สำหรับแนวทางการอภิปรายนั้น จะเป็นแบบสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมาตามนโยบาย ซึ่งพรรคจะให้คำเสนอแนะ รวมทั้งให้ความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และตั้งคำถามในบางนโยบายที่ยังขาดความชัดเจน ถือเป็นการตั้งคำถามแทนประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าสุดท้ายแล้วคืออะไร อย่างไร เพราะต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า บางเรื่องยังมีความคลุมเครืออยู่มาก และเมื่อดูเนื้อหานโยบายในภาพรวมทั้งหมด ก็ไม่ตรงปกจริงอย่างที่วิจารณ์กันอยู่
"รอวันที่จะมีการอภิปรายจริง มีหลายนโยบายขอไปพูดวันนั้น บางเรื่องที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงก็ไม่มี แล้วก็ไม่มีเยอะด้วย ไม่ใช่ไม่มีแค่นโยบาย สองนโยบาย จะให้ความเห็นตามเนื้อผ้า ตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ เพราะจะเป็นการอภิปรายแบบสร้างสรรค์จริงๆ ให้เป็นประโยชน์กับการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปของรัฐบาล และให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ กับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงมา" นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนกรอบเวลาในการอภิปรายนั้น ได้มีการพูดคุยตกลงกับพรรคก้าวไกลแล้ว โดยพรรคประชาธิปัตย์จะได้เวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที จากเดิมที่ขอไว้ 3 ชั่วโมง
"เมื่อไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ขัดข้องหมองใจอะไร แม้จะเป็นข้อจำกัด แต่ก็จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด" นายจุรินทร์ กล่าว
รักษาการหัวหน้าพรรคฯ กล่าวว่า แนวทางการอภิปรายครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ได้มีการพูดคุยกันแล้ว การทำหน้าที่ถัดจากนี้ไป พรรคประชาธิปัตย์ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งตนประกาศไปชัดเจนแล้วว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ
"รัฐบาลบอกว่าเป็นรัฐบาลประชาชน ฝ่ายค้านก็เป็นฝ่ายค้านประชาชน เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ ประชาธิปัตย์ก็พร้อมทำหน้าที่ ไม่มีอะไรน่ากังวล ทุกคนก็จะทำหน้าที่ร่วมกัน ในทิศทางเดียวกัน" นายจุรินทร์ กล่าว
รักษาการหัวหน้าพรรคฯ กล่าวว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องมาร่วมทำงานกันในฐานะฝ่ายค้าน หากการทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลมีอะไรที่แตกต่างกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็จะยังคงจุดยืนที่ต้องรักษาไว้ เช่น ไม่แตะมาตรา 112 แต่หากเป็นเรื่องที่ต้องทำหน้าที่ร่วมกัน เช่น การตรวจสอบรัฐบาลด้วยกัน เรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหา เพราะถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน
"ประชาธิปัตย์เชื่อว่าก้าวไกลก็คงตระหนัก และเข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีการแบ่งปันข้อมูลกัน การอภิปรายนโยบายก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการการเมืองไทย แต่เป็นเรื่องที่ทุกพรรค ก็น่าจะรู้หน้าที่ดีอยู่แล้ว" นายจุรินทร์ กล่าว