น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า การแถลงนโยบายที่ดีจะช่วยกู้คืนความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ให้กลับคืนมาได้ เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะให้คำมั่นว่า 4 ปีข้างหน้าจะนำพาความก้าวหน้ามาให้ประชาชนอย่างไรบ้าง และวิธีการใด ทั้งนี้คำสัญญาที่เป็นรูปธรรมจะเป็นตัวกำหนดความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า ได้ทำสัญญาหรือไม่
คำแถลงนโยบายรัฐบาลที่ดีต้องเป็นแบบ Government Policy Statement (GPS) ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานตลอด 4 ปีนี้ ด้วยวิธีการใด และปฏิบัติเหมือนที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่ และไปถึงเป้าหมายเมื่อไร แต่คำแถลงนโยบายไม่แตกต่างจากในเอกสารที่ออกมาก่อนหน้านี้
"ถ้าจะบอกว่านี่คือ GPS ประเทศนี้คงหลงทาง เพราะมีแต่ความว่างเปล่า เบาหวิว แทบไม่ได้บอกอะไรเลย มีแต่คำอธิษฐานลอยๆ มีแต่คำกล่าวกว้างๆ ขาดความชัดเจนเป้าที่ไปถึง ไม่มีตัวชี้วัดเป็นตัวเลข มีแต่คำขยาย อย่างเหมาะสม อย่างมีนัยสำคัญ อย่างเป็นธรรม" นส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา ได้เปรียบเทียบคำแถลงนโยบายในช่วง 3 รัฐบาลล่าสุด คำสัญญาที่ระบุไว้ในนโยบายต้องมีความชัดเจน ทั้งในเรื่องเป้าหมาย วิธีการ ต้องมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม และมีการกำหนดกรอบเวลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ให้ประชาชนตรวจสอบผลงานได้ว่าเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดต้องบรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ ถ้าพรรคการเมืองไหนที่ตระบัตย์สัตย์ไม่บรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้โดยปราศจากคำอธิบายที่รับฟังได้ แบบนี้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นทรยศความไว้วางใจที่ให้ไว้กับประชาชน
คำแถลงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อยู่เกรดเดียวกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่น่าผิดหวัง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาตรฐานตก ไม่ได้รักษามาตรฐานให้ดีแบบที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีเป้าหมายชัด มีนโยบายที่เคยหาเสียงบรรจุไว้ทั้งหมด มีกรอบระยะเวลาชัดเจน
น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า คำแถลงนโยบายรัฐบาลชุดนี้ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ไม่มีเป้าตัวชี้วัดที่วัดผลได้ ไม่มีกรอบเวลา และไม่ตรงกับนโยบายที่สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง บางนโยบายเช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท แต่ในคำแถลงระบุแค่ว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นธรรม และเงินเดือนที่เป็นธรรม หรือนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทก็ไมได้ระบุไว้ในคำแถลงนโยบาย เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีมาจากภาคเอกชน เราก็คาดหวังจะนำแนวบริหารแบบภาคเอกชนมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินในบางเรื่อง แต่ยังไม่เห็นว่า เริ่มใช้ในการแถลงนโยบาย
"อยากให้คุณเศรษฐาลองนึก ถ้านี่คือ CEO ใหม่กำลังวิสัยทัศน์กับบอร์ด กำลังแถลงกับนักลงทุน หรือกับที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นท่าน ท่านจะฟังต่อหรือลุกเดินหนี" นส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา หยิบยกการแสดงวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐาในสมัยที่ยังดำรงแหน่งประธาน บมจ.แสนสิริ ที่มีเป้าหมายและกรอบเวลาชัดเจน มีตัวเลขชี้วัด แต่ในคำแถลงนโยบายรฐบาลขาดความทะเยอทะยานให้สังคมก้าวหน้าหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง และไม่ค่อยพูดถึงนโยบายที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง หรือความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่กล้าแตะเรื่องยากๆ ที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งตอนหาเสียงกล้าหาญกว่านี้มาก
"การแถลงนโยบายของนายเศรษฐาคล้ายๆ กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะรัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวจะทำไม่ได้ตามที่สัญญา เหตุผลที่ทำไม่ได้เพราะเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่นโยบายเป็นคนละขั้ว หาข้อสรุปไม่ได้ จึงต้องเขียนนโยบายแบบกว้างๆ ไว้ อีกทั้งที่มาของอำนาจต้องเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มทุนต่างๆ จึงไม่กล้าทำเรื่องยากๆ ที่ต้องปะทะกับใคร" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สมัยนายเศรษฐาเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนมีแนวคิดสนับสนุนการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก จึงขอตั้งคำถามว่า ยังมีแนวคิดนี้หรือไม่ หรือเปลี่ยนความคิดไปแล้ว
ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่จะใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท แหล่งที่มาของงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินต้องพิจารณาว่าเพียงพอหรือไม่ หรือมีเงินสดพอหรือไม่ หรือหากใช้เงินนอกงบประมาณ จะมี 3 วิธีการคือ กู้ยืมเงินจากธนาคารรัฐ กู้ยืมเงินกองทุนหมุนเวียนหรือไม่ และขายกองทุนวายุภักษ์
หากเลือกใช้งบประมาณปี 67 คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะงบที่เหลือใช้ได้จริงคือ 4 แสนล้านบาท และนายกรัฐมนตรีได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลอื่นหรือไม่ว่าจะนำงบที่เหลือมาลงกับดิจิทีลวอลเล็ต แต่หากเลือกใช้เงินนอกงบประมาณก็ไม่สามารถทำได้หากไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะเคร่งครัดเรื่องวินัยการเงินการคลัง แต่งานแรกจะเริ่มต้นด้วยการทำลายกรอบวินัยการเงินการคลังแล้วใช่หรือไม่
"ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่ขอให้ท่านจัดลำดับความสำคัญให้ดี การบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่การพนัน จะเทหมดหน้าตักแล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ ข้อดีของการแถลงนโยบายแบบกว้างๆ คือท่านทำอะไรได้มากกว่านั้น ท่านยังมีโอกาสอีกครั้งในการแถลงงบประมาณ ถ้าคำแถลงนโยบายคือคำสัญญา 4 ปี คำแถลงงบประมาณก็จะเป็นคำสัญญา 1 ปี ซึ่งดิฉันยังเฝ้ารอในโอกาสหน้า" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว