นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะฝ่ายค้าน อภิปรายถึงนโยบายรัฐบาลว่า มีความเห็นสอดคล้องกับหลายฝ่ายที่ว่าเป็นนโยบายที่คลุมเครือ เลื่อนลอย และขาดความชัดเจน แตกต่างจากที่เคยพูดไว้ในช่วงหาเสียงอย่างสิ้นเชิง เปรียบเหมือนหนังคนละม้วน
พร้อมระบุว่า ฝ่ายค้านจำเป็นต้องมีหน้าที่ตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้รัฐบาลตระหนักว่า การหาเสียงสามาถทำได้ แต่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน อย่าให้เหมือนกรณีของ "ไล่หนู ตีงูเห่า" ที่สุดท้ายแล้ว หนูกับงูเห่า ก็มาอยู่รวมกัน เป็นเหมือนนโยบายการละคร
"มาตรฐานนโยบายรัฐบาลชุดนี้ สวนทางกับความสูงของท่านนายกฯ เศรษฐา ตั้งโจทย์ประเทศคลุมเครือ เป็นนโยบายเลื่อนลอย ขาดความชัดเจน ฟุ่มเฟือยด้วยวาทะกรรม...นโยบายที่แถลงวันนี้ กับนโยบายที่พูดไว้ตอนหาเสียง เหมือนหนังคนละม้วน เป็นนโยบายไม่ตรงปก" นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ ได้หยิบยก 10 นโยบายของรัฐบาล ขึ้นมาอภิปรายถึงความเป็นไปได้ และความชัดเจนที่รัฐบาลจะดำเนินการ
1. เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ซึ่งพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้สร้างความหวังให้กับนักศึกษาที่จบปริญญาตรี แต่วันนี้นโยบายนี้หายไปไหน เหมือนเป็นนโยบายนินจาที่หายไปแบบไร้ร่องรอย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หรือเป็นเพราะรัฐบาลคิดว่าจะทำในปี 2570 แต่เมื่อรัฐบาลคงอยู่ไม่ถึงตอนนั้น จึงไม่ทำ
2. ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ซึ่งมีหลายฝ่ายทักท้วงเพราะเป็นห่วงภาคเอกชน โดยเฉพาะ SME ที่จะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้นในการจ่ายค่าแรง หากไม่สามารถรับไหวอาจจะต้องผลักภาระเหล่านี้ไปที่การปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งสุดท้ายผลกรรมก็จะตกอยู่กับประชาชน ล่าสุดนโยบายนี้จึงเป็นนโยบายนินจาตัวที่ 2 เพราะเหลือเพียงระบุไว้ว่าจะทำให้ประชาชนมีค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสม
3. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำทันที ซึ่งนโยบายนี้ก็ล่องหนเช่นกัน ท่ามกลางความสงสัยที่ว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร และจะนำเงินจากที่ไหนมาทำนโยบายนี้ หรือรัฐบาลจะต้องนำเงินไปชดเชยให้บริษัทเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ จึงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องตอบคำถาม
4. ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงว่าจะเติมเงินให้ทุกครอบครัวที่มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 20,000 บาททุกเดือน นโยบายนี้หากจะทำให้เกิดขึ้นจริงต้องใช้งบประมาณเป็นหลักแสนล้านบาทต่อเดือน เพราะปัจจุบันมีครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาท/เดือน มากถึง 20 ล้านครอบครัว ดังนั้นรัฐบาลจะนำเงินจากส่วนไหนมาทำนโยบายนี้
5. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วยการจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งนอกจากไม่เห็นในนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังถูกแปลงโฉมจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอ ซึ่งเหมือนเป็นการรวบอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาค กลายเป็นการย้อนกลับไปสู่การปกครองเมื่อ 20 ปีก่อน
6. นโยบายเรื่องพืชผลเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่ารัฐบาลนี้จะไม่ใช่นโยบายเรื่องการรับจำนำ และการประกันรายได้ ซึ่งในเรื่องจำนำนั้น เห็นด้วยที่จะไม่มีนโยบายนี้ เพราะนโยบายรับจำนำเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเห็นตัวอย่างจากนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนหน้า (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ที่สร้างภาระหนี้จากนโยบายจำนำข้าวไว้ถึง 8.8 แสนล้านบาท ปัจจุบัน ยังเหลือค้างชำระหนี้จำนำข้าวอีก 2.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ตั้งคำถามว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำนโยบายประกันรายได้ แล้วหากในอนาคตสินค้าเกษตรราคาตกต่ำจะทำอย่างไร จะมีเครื่องมือใดมาช่วยดูแลเกษตรกร เพราะมองว่านโยบายการพักชำระหนี้นั้น หากครบกำหนดพักชำระหนี้แล้ว ภาระหนี้ก็ต้องเดินต่อ ไม่ได้หมดไป ซึ่งเป็นนโยบายที่แค่ช่วยต่อลมหายใจชั่วคราวให้เกษตรกรเท่านั้น แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา
7. เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้ได้เพราะเป็นสัญญาที่หาเสียงไว้กับประชาชน แต่มีคำถามว่าจะนำเงินที่คาดว่าต้องใช้ในโครงการนี้ 5.6 แสนล้านบาทมาจากไหน เพราะงบประมาณแผ่นดินจากที่สอบถามกับสำนักงบประมาณนั้น เหลือให้รัฐบาลใหม่ใช้เพียง 2 แสนล้านบาทเท่านั้น
"นโยบายเงินดิจิทัล งบ 5.6 แสนล้านบาท ต่อให้เอางบทั้งปี 67 ทั้งปี โดยไม่ต้องทำโครงการอื่นเลย ก็ไม่พอใช้ ถ้าไม่กู้ แต่ รมช.คลัง บอกว่าจะเอาเงินอนาคตมาใช้ได้จาก มาตรา 28 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ) ซึ่งก็มีแค่หลักหมื่นล้าน ต้องไปตั้งงบใช้หนี้ในอนาคต ที่เราต้องถาม เพราะคนในรัฐบาลเองบอกว่านโยบายนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้น จึงเหมือนเป็นนโยบายที่ไปตายเอาดาบหน้าหรือไม่" นายจุรินทร์ ระบุ
8. การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์พร้อมสนับสนุน แต่มีข้อสังเกตว่านโยบายของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน เนื่องจากระบุว่าจะไม่แก้ไขในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในหมวดที่ 2 แต่มีคำถามว่า แล้วในหมวดที่ 1 ที่ไม่ถูกพูดถึงนั้น แปลว่าแก้ได้หรือไม่ ซึ่งในหมวดที่ 1 นี้มี 2 มาตราที่สำคัญ คือ ม.1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกมิได้ และ ม.2 ประเทศไทยมีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
"เหตุใดรัฐบาลไม่ระบุให้ชัดว่าจะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 เกรงใจใครหรือไม่ เกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหน อย่าคิดว่าการแบ่งแยกดินแดนจะไม่มี หรือจะไม่เกิด เพราะตอนนี้มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีคนพยายามทำประชามติเรื่องการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้แล้ว" นายจุรินทร์ กล่าว
9. การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น มีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะเอาจริงในเรื่องนี้แค่ไหน เพราะเท่าที่อ่านนโยบายรัฐบาลโดยละเอียด พบการระบุไว้เพียงครึ่งบรรทัดอยู่ในนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะต้องตระหนักให้มาก และไม่ทำเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ถูกยึดอำนาจถึง 2 ครั้งจากปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
10. การฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่มีความเข้มแข็ง แม้จะบอกว่าเป็นรัฐบาลสลายขั้ว แต่เชื่อว่าสลายความขัดแย้งไม่ได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีความเท่าเทียมเรื่องของคนรวย-คนจน คนมีอำนาจ-ไม่มีอำนาจ นักโทษร่ำรวย-นักโทษยากจก นักโทษที่มีอำนาจ-นักโทษที่ไม่มีอำนาจ ดังนั้นนโยบายนี้จะศักดิ์สิทธิ์ได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่ต้องตระหนักในการบังคับใช้กฎหมายโดยเท่าเทียมกับคนไทยทุกคน อย่าสร้างมาตรฐานใหม่เหยียบย่ำคนที่รักความยุติธรรมให้หมดไป และต้องลบคำว่า "คุกมีไว้ขังคนจน กับคนไม่มีอำนาจ" ให้หายไปให้ได้ ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง