นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไปจนถึงครึ่งปี 2567 ไม่มีความเหมาะสมที่ต้องกระตุ้นการบริโภคด้วยการแจกเงินถ้วนหน้า เพราะจากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยของหน่วยงานต่างๆ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว และการใช้จ่ายในประเทศกำลังเพิ่มขึ้น ดูจากอัตราการขยายตัวการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน
แต่ปัญหาที่กดดันการขยายตัวเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการส่งออก ที่พบว่าในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากปีก่อน ซึ่งขณะนี้การส่งออกไทยหดตัวแล้ว 10 เดือนติดต่อกัน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 67 ทั้งสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ยิ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยแน่นอน ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมที่ใช้มาตรการการคลังมากระตุ้นภาคบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากมาตรการคลังเป็นการกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้น แต่ควรทำให้ถูกจังหวะเวลา
"นโยบายแจกเงินถ้วนหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรทำเมื่อการบริโภคภาคเอกชนหดตัว ไม่ใช่ทำเพราะการบริโภคขยายตัวแบบนี้ เหมือนหัวใจเราไม่หยุดเต้น เราเอาไฟฟ้าไปช็อตอย่างที่ท่านกล่าวอ้างไปเพื่ออะไร ยิ่งหัวใจเต้นปกติอยู่ดีๆ อาจโดนไฟช็อตหมดสติไปเลย" นายชัยวัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ยังมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังพึ่งพาอุตสาหกรรมโลกเก่า เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเลียม ซึ่งหากไม่ปรับโครงสร้าง มูลค่าการส่งออกยิ่งลดลงไปอีก และโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีลักษณะกระจุกตัวสูง เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด 5% มีรายรับมากกว่า 85% ของรายรับรวมของภาคธุรกิจทั้งหมด
ดังนั้น จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบาย และมาแก้ปัญหาส่งออกหดตัวต่อเนื่องถึงจะตรงจุดมากกว่า และทบทวนงบประมาณให้คุ้มค่า ในการแก้ปัญหาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้ SME มีขีดความสามารถแข่งขัน ธุรกิจใหม่ๆ ทำได้ง่าย ขยายตัวได้เร็ว แทนที่ใช้งบประมาณมาแจก และแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่ถูกเวลา
นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวถึงการจำกัดพื้นที่ 4 กม.ในการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ในต่างจังหวัดอาจจะมีร้านค้าไม่เพียงพอรับเงินดิจิทัลได้ และแทนที่ประชาชนจะได้ซื้อของที่ตนต้องการ กลับถูกบังคับด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของระยะทาง ทำให้ต้องจำใจซื้อของที่ตัวเองไม่อยากได้ และสุดท้ายก็ต้องไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างค้าส่งขนาดใหญ่เท่านั้น
"เงื่อนไขการใช้ และการขึ้นเงินที่ยุ่งยาก อาจทำให้เงินในดิจิทัลวอลเล็ตด้อยมูลค่าลง และพื้นที่การใช้งานที่จำกัด อาจทำให้ผู้รับเพิ่มต้นทุนค่าความลำบากเข้าไปในราคาสินค้าและบริการ" นายชัยวัฒน์ กล่าว
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แหล่งที่มาของเงิน 5.6 แสนล้านบาทที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ จะมาจากแหล่งใด ซึ่งงบประมาณปี 67 มีงบอยู่ 3.35 ล้านล้านบาท แต่ต้องจ่ายเงินเดือนราชการ จ่ายหนี้ และงบผูกพันท้องถิ่น จนทำให้เหลือเพียง 8.5 แสนล้านบาท และต้องกันไว้เป็นงบลงทุนตามกฏหมายอีก 4.5 แสนล้านบาท เหลือใช้ได้จริง 4 แสนล้านบาท
"จึงเป็นห่วงว่า รัฐจะนำเงินมาใช้โครงการนี้จากไหน และมองไม่เห็นภาพจะนำเงินจากไหนโดยไม่ต้องกู้ และขอร้องว่า อย่าให้การทำนโยบายนี้ เป็นการทำลายกรอบวินัยการเงินการคลัง ใช้เงินนอกงบประมาณโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของสภา" นายชัยวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน ยังไม่เหมาะที่จะใช้กับระบบชำระเงินที่มีผู้ใช้งานมากถึง 56 ล้านคน แม้รัฐบาลต้องการให้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอนาคต แต่ไม่ควรนำมาผูกกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะหากระบบบล็อกเชนล้มเหลว ประชาชนจะสูญเสียความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้