นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีที่โฆษกรัฐบาลแถลงว่ารัฐบาลต้องการที่จะยกเลิกหรือแก้ไขประกาศหรือคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือต้องการที่จะยกเลิกแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลนั้น ตนเห็นด้วยในหลักการสามารถทำได้ แต่รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการรวบรวม เพื่อแยกประกาศและคำสั่งของ คสช.ว่ามีสถานะเทียบลำดับชั้นกฎหมายใด เพราะจะมีผลนำไปสู่วิธีการดำเนินการเพื่อยกเลิกหรือแก้ไข ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
การสังคายนาประกาศและคำสั่ง คสช.ที่เป็นอุปสรรคและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ข้อเท็จจริงในปัจจุบันนั้นต้องทำให้ถูกต้องตามหลักการ การที่โฆษกรัฐบาลจะใช้คำว่ารัฐบาลเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้นไม่ถูกต้อง ดูแล้วเหมือนเริ่มลุแก่อำนาจ ขาดการตรึกตรองที่ดี จะคิดว่าคำสั่งของรัฐบาลเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายได้เอง มีอำนาจสูงสุด คงผิดหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตย เพราะขณะนี้อำนาจในการตรากฎหมายออกกฎหมายเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ ยกเว้นกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง พระราชกฤษฎีกา ที่รัฐบาลสามารถออกได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตอำนาจที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบหมายไว้อย่างเคร่งครัด
ฉะนั้นประกาศหรือคำสั่ง คสช.ต้องแยกให้ชัด เพราะมีบางส่วนที่จำต้องออกเป็นพระราชบัญญัติมาแก้ไขหรือยกเลิกเสียก่อน เหตุผลที่สำคัญมีมาตรา 279 รัฐธรรมนูญกำหนดว่า คำสั่ง และการกระทำของ คสช. ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่ง ให้มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิก การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี
โฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารปกครองราชการแผ่นดิน สิ่งที่สำคัญการดำเนินการสิ่งใดควรตรวจดูกฎหมายให้ถี่ถ้วน ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย หากรัฐบาลละเมิดเสียเองแล้วประชาชนจะหวังอะไรก็ได้จากรัฐบาล การอ้างว่ารัฐบาลเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เหมือนเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลนี้เริ่มต้นแล้วในการเดินเข้าสู่เส้นทางการใช้อำนาจตามอำเภอใจ