นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เปิดเผยว่า ได้พยายามติดต่อบุคคลที่จะเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ โดยได้คุยถึงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอยากแก้ไขให้สำเร็จและเสร็จสิ้นภายใน 4 ปีที่เป็นรัฐบาล โดยพยายามจะเร่งให้เร็วที่สุด
การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ อยากให้ปมขัดแย้งเดิมๆ หายไป และไม่อยากให้สร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา โดยจะใช้วิธีให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทำประชามติ คณะกรรมการฯ จะได้หารือกันถึงแนวทางและกรอบเวลาว่าจะนานเท่าไร คาดว่าจะใช้เวลาในเร็ววัน หรือ 3-4 เดือน หรืออาจจะเร็วกว่านั้นในการทำประชามติ
"ถ้า ครม.มีมติ ก็จะมีกระบวนการต่างๆ รองรับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีการหารือกับบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงเหตุและผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ช่วยกัน ไม่อยากให้ทำประชามติและร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่ผ่าน ก็จะเป็นปัญหา" นายภูมิธรรม กล่าว
สำหรับการทำประชามตินั้น ตามนโยบายรัฐบาลได้พูดชัดเจนแล้วว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยังคงหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ โดยจะไม่แตะเรื่องพระราชอำนาจในมาตราต่างๆ นอกนั้นทำได้หมด ทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไปดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือหลายๆ อย่างที่เขียนมา หากเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยหรือการบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องเปิดให้มีการพูดคุย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า หากได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ก็คาดว่าจะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ตัวแทนวิชาชีพ สมาคมทนายความ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ด้าน รวมถึงเชิญตัวแทนสมาคมนักข่าวด้วย 1 คน แต่ต้องหารือนายกสมาคมนักข่าวก่อน
"มีบางคนได้ตอบรับมาแล้ว ถ้าทำได้เร็วที่สุด คาดว่าวันที่ 26 ก.ย.นี้ จะเอาเข้าที่ประชุม ครม. แต่ถ้าช้าหน่อย อาจจะใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ โดยจะต้องรวบรวมรายชื่อ และพูดคุยกับทุกฝ่ายให้เข้าใจถึงความต้องการ" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ระบุ
โดยรายชื่อคณะกรรมการฯ ชุดนี้ หากดูตามวิชาชีพต่างๆ ก็มีเกือบ 20-30 คน ไม่อยากให้เป็นคณะที่ใหญ่เกินไป เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัว คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์น่าจะมีรายชื่อคณะกรรมการฯ เสนอให้กับนายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้ง หลังจากนั้นก็จะเริ่มดำเนินการ โดยจะมีตนเป็นประธานฯ ตามมติ ครม.ที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขานุการคณะกรรมการฯ ขอดูจากคนที่ได้ทาบทามไว้ทั้งหมดก่อน เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้า น่าจะมีรายชื่อออกมา
ส่วนกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการฯ นายภูมิธรรม คาดไว้ไม่เกิน 3-4 เดือน ซึ่งไม่ได้คิดที่จะยืดเวลา แต่ขอดูรายละเอียดและพูดคุยกันในยกแรกก่อน ถ้าตั้งคณะกรรมการฯ เรียบร้อยแล้วก็จะวางไทม์ไลน์ให้เกิดขึ้น คิดว่าจะต้องดำเนินการในทันที และต้องมีขั้นตอนที่จะต้องยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และต้องเข้าสภาฯ เพื่อไปแก้ไขมาตรา 256 ยืนยันว่าหลังจากแก้รัฐธรรมนูญและมีกฎหมายลูกแล้ว คิดว่าภายในไม่เกิน 3 ปี 3 ปีครึ่ง หรือ 4 ปี ถ้ามันจบได้ก็จะจบ และจะให้ทันการเลือกตั้งสมัยหน้าที่จะเกิดขึ้น
หากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะยุบสภาทันทีเลยหรือไม่นั้น คงต้องดูรายละเอียดก่อน แต่คิดว่าจะพยายามให้เข้าสู่กระบวนการปกติให้เร็วที่สุด เบื้องต้นขอคุยกับคณะกรรมการฯ ก่อน เพราะคณะกรรมการชุดนี้ได้รับมอบหมายให้มาศึกษาและวางรายละเอียดต่างๆ
"ถ้าตอบไปตอนนี้ จะเป็นความเห็นของผมคนเดียว อยากให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ฉะนั้นการพูดคุย การวางไทม์ไลน์ต้องชัดเจน และโปร่งใส มีความคิดที่จะเชิญกลุ่มไอลอว์ และภาคประชาสังคมทุกภาค มาร่วมคณะกรรมการด้วย พยายามจะดึงเข้ามาให้หมด" นายภูมิธรรม กล่าว พร้อมยืนยันว่า กระบวนการต่างๆ จะไม่เป็นการประวิงเวลาอย่างแน่นอน