นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พรรคก้าวไกลเคยยื่นต่อสภาในสมัยที่ผ่านมา เกือบผ่านวาระแรก โดยได้รับความร่วมมือจากพรรคฝ่ายค้านด้วยกันในเวลานั้น เช่น พรรคเพื่อไทย ที่วันนี้เป็นพรรครัฐบาล
โดยเหตุผลของการเสนอกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนใต้มีมายาวนาน และยังมีการประกาศใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองหลายขณะ โดยพบว่าปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาฯ แม้ที่ผ่านมา สภาฯ ส่งเสียง แต่มักไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เช่น สถานการณ์โควิด มีการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปใช้ในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เห็นต่างทางการเมือง จนมีคำถามจากประชาชนว่า ความจำเป็นของการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในเวลานั้นมีจุดประสงค์อย่างไร ต้องการแก้ปัญหาโควิด หรือปกป้องผู้มีอำนาจ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.การประกาศ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการประกาศได้ แต่เงื่อนไขในการประกาศ ต้องมีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 3 วัน และต้องขออนุมัติจากสภาฯ ภายใน 7 วัน เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนสามารถอนุญาตให้รัฐบาลใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
2.การขออนุมัติกับสภาฯ รัฐบาลมีหน้าที่ทำแผนว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จะสามารถแก้ไขวิกฤติสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยวิธีการใด เพราะปัจจุบัน เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลขาดความชัดเจนว่าท้ายที่สุดทำไปทำไม มีแผนอย่างไร แผนดังกล่าวจะแก้วิกฤตได้เมื่อไร ประชาชนไม่เคยรับทราบ ดังนั้นสภาฯ มีสิทธิที่จะรู้ว่ารัฐบาลที่กำลังจะใช้อำนาจพิเศษ มีแผนการจัดการวิกฤตอย่างไร
3.พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบัน ศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้ให้อำนาจประธานสภาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการร้องศาลปกครอง ว่าถึงที่สุดยังมีเหตุในการประกาศใช้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล
4.การใช้อำนาจพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องมีความรับผิด แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ระบุว่า หากการใช้อำนาจนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหาย การดำเนินคดีตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจนั้น สามารถดำเนินการได้
"สาระสำคัญของร่างนี้ คล้ายกับร่างเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุน สถานการณ์วันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม ความแตกต่างมีประการเดียว คือ วันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คำถามคือ พรรคเพื่อไทยจะว่าอย่างไร หากเพียงพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเห็นด้วย เราจะสามารถเดินหน้า ทำให้กฎหมายพิเศษนี้ได้รับการตรวจสอบให้มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจมากขึ้น" นายรังสิมันต์ กล่าว