นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมแต่ละพรรคการเมืองเพื่อหารือถึงจัดสรรโควตาประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้ง 35 คณะ ซึ่งใช้เวลาหารือเจรจากว่า 3 ชั่วโมง ว่า แต่ละพรรคได้ข้อสรุปว่าถอยคนละก้าว และจบด้วยดี โดยในวันที่ 27 ก.ย.นี้ ทุกพรรคจะเสนอรายชื่อเข้า กมธ. 35 คณะ และในวันที่ 28 ก.ย. จะเป็นการประชุมนัดแรก เพื่อเลือกตำแหน่งอื่น ๆ ให้ครบทุกตำแหน่ง
สำหรับผลสรุปเก้าอี้ประธานกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ ประกอบด้วย
- พรรคก้าวไกล ได้ประธาน กมธ. 11 คณะ ประกอบด้วย กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ, กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน, กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ, กมธ.การสวัสดิการสังคม, กมธ.การทหาร, กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย, กมธ.ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ, กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม, กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน, กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค
- พรรคเพื่อไทย ได้ประธาน 10 คณะ ประกอบด้วย กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ, กมธ.การคมนาคม, กมธ.การท่องเที่ยว, กมธ.การสาธารณสุข, กมธ.การต่างประเทศ, กมธ.การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม, กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร, กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด, กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน
- พรรคภูมิใจไทย ได้ประธาน 5 คณะ ประกอบด้วย กมธ.การศึกษา,กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ, กมธ.การปกครอง, กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย, กมธ.การแรงงาน
- พรรคพลังประชารัฐ ได้ประธาน 3 คณะ ประกอบด้วย กมธ.การกีฬา, กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ, กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม
- พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ประธาน 2 คณะ ประกอบด้วย กมธ.การพลังงาน, กมธ.การอุตสาหกรรม
- พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประธาน 2 คณะ ประกอบด้วย กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา, กมธ.การตำรวจ
- พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ประธาน 1 คณะ คือ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
- พรรคประชาชาติ ได้ประธาน 1 คณะ คือ กมธ.การกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
นายชัยธวัช ตุลาธน รักษาการเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้แน่นอนว่า กมธ.ติดตามงบประมาณเป็นของพรรคก้าวไกล แต่ในส่วนกมธ. ป.ป.ช.อยู่กับพรรคเพื่อไทย และ กมธ.กระจายอำนาจ และ กมธ.แรงงาน อยู่กับพรรคภูมิใจไทย
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงควรจะเป็นประเพณีปฏิบัติได้แล้ว ในระบบรัฐสภากรรมาธิการสำคัญ ๆ ที่เป็นการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น กมธ.ติดตามงบประมาณ และ กมธ. ปปช. เป็นต้น ก็ควรจะเป็นของฝ่ายค้าน แต่ตนก็เข้าใจเพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น ประธานกมธ. ป.ป.ช. ทั้งสมัยของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นของฝ่ายรัฐบาล แต่กลายเป็นว่า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีความใจกว้างมากกว่า ที่ให้ฝ่ายค้านได้มาดู กมธ.นี้
"น่าเสียดายว่ารัฐบาลพลเรือนชุดแรก หลังรัฐประหาร ไม่ปล่อยพื้นที่ตรงนี้ให้ฝ่ายค้าน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายกลไกที่จะใช้ในการตรวจสอบ" นายชัยธวัช ระบุ