นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลนักโทษของระบบราชทัณฑ์ เพื่อต้องการทราบถึงการดูแลผู้ป่วย ตามมาตรการของกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส รวมถึงติดตามหรือซักถามข้อสงสัยในกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ การประชุมจะเป็นการประชุมลับ โดยจะเปิดเผยรายละเอียดเฉพาะที่ได้รับอนุญาต ยืนยันว่า กมธ.ฯ ไม่มีอคติ หรือมีประเด็นการเมืองใดๆ
นายสมชาย กล่าวว่า ในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการดูแลนายทักษิณ ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เกินกว่า 30 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาตามระเบียบที่ราชทัณฑ์กำหนดนั้น กรรมาธิการฯ ได้รับข้อมูลพอสมควร โดยได้รับคำตอบ 3-4 ประเด็น ได้แก่
1. นายทักษิณ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ ที่ให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ และมีตำรวจช่วยดูแลควบคุม ส่วนกรณีที่สังคมวิจารณ์ว่าไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจริง และกลับบ้านไปเลี้ยงหลานแล้ว ตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
2. การรักษาตัว เป็นไปตาม 4 โรคสำคัญ ที่มีผลรับรองทางการแพทย์ จากประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่การรักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เพราะแพทย์ที่มาชี้แจงนั้นไม่ได้เป็นผู้รักษา และเป็นไปตามกฎหมายที่คุ้มครองตามสิทธิของผู้ป่วย กมธ.ฯ แนะนำสามารถส่งข้อมูลทางลับได้ เพราะกมธ.ฯ จะ ไม่นำไปเปิดเผย และแนะนำด้วยว่ามีการสงสัยอาการป่วยหลายโรค ควรชี้แจงว่ามีโรคใดที่ควรกังวลและพักฟื้นในระยะเวลาเท่าไร ซึ่งประเด็นดังกล่าว เป็นสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวที่สามารถรับรู้ได้
ทั้งนี้ แพทย์ของผู้ป่วยต้องอธิบายได้ในบางระดับให้สังคมรับทราบ ว่าอาการที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และต้องรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรว หรือไม่ ตามดุลยพินิจของแพทย์
3.ประเด็นที่ กมธ.สอบถามกรณีที่นายทักษิณ ฐานะนักโทษ เด็ดขาด เข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการจนเป็นที่น่าพอใจแล้วจะส่งกลับได้หรือไม่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สามารถรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไปฟื้นฟู และหากหายสามารถกลับไปเรือนจำได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ระบุว่า เป็นขั้นตอนปกติ
ทั้งนี้ ต้องดูว่าอาการของนายทักษิณ อยู่ในเกณฑ์ใด ต้องให้แพทย์ใหญ่ปรึกษากับญาติ ซึ่งอาจจะได้รับการชี้แจงต่อไป แต่เป็นสิทธิของญาติที่จะชี้แจงกับสังคมหรือไม่ โดย กมธ.ฯ ไม่ก้าวล่วง
4.กรณีรับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ จะได้รับการลดโทษอีกหรือไม่ กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เกณฑ์การขอลดโทษตามห้วงเวลาที่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษนั้น มีช่วงเวลาตามวโรกาสพิเศษ เช่น วันที่ 5 ธันวาคม, 28 กรกฎาคม, 12 สิงหาคม ซึ่งการขอลดโทษตามเกณฑ์นักโทษ ต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 โดย จำนวนวันของนายทักษิณ ตามเกณฑ์ 1 ใน 3 หรือ 120 วัน จะเกิดขึ้น ในวันที่ 20 ธันวาคม หรือเกณฑ์ 6 เดือน ซึ่งในกรณีของนายทักษิณนั้น จะครบเกณฑ์ 6 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
"ส่วนการพักโทษที่มีหลักเกณฑ์ คือเป็นผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว ซึ่งนายทักษิณ อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อถามว่าต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าไม่จำเป็น หากพักโทษแล้วอาจจำกัดพื้นที่อยู่ เช่น ที่บ้านในประเทศไทย ไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ ทั้งนี้ ในห้วงเวลา 6 เดือน ที่จะเข้าเกณฑ์พักโทษนั้น จะรวมเวลาที่อยู่ในช่วงการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจด้วย" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวอีกว่า การรักษาตัวจะอีกนานหรือไม่ เป็นประเด็นที่แพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลตำรวจจะพิจารณา ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ปฏิเสธไม่ได้ ส่วนกรณีการผ่าตัดนั้น กมธ.ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่ง กมธ.ไม่ได้บังคับให้ตอบ เพียงแค่ให้คำแนะนำว่า ถ้าไม่ตอบ สังคมจะมีความสงสัย
ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจต้องชี้แจง หากไม่ป่วย ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่หากป่วยต้องชี้แจงว่าถึงระยะเวลารักษา ตนอยากเห็นความตรงไปตรงมา หากนายทักษิณ ตัดสินใจจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
"หากปล่อยให้มีความสงสัย และเกิดเป็นคลื่นใต้น้ำ อาจจะมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมได้ อย่างไรก็ดี นายแพทย์ใหญ่ ไม่ได้ให้คำตอบในรายละเอียดการรักษานายทักษิณ เท่าที่ระบุกับ กมธ.ฯ ได้คือ ไม่ขอตอบ ดังนั้นยังไม่ทราบอาการหรือกรณีที่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ กมธ.ฯ จะให้เวลาอีก 1 เดือน คือช่วงเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่นายทักษิณ จะครบสิทธิการรักษาตัวนอกเรือนจำ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน ทราบว่ามี กมธ.คณะอื่นๆ สนใจจะติดตามเช่นกัน" นายสมชาย กล่าว