นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ในวันนี้จะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นคำร้องให้ดำเนินการไต่สวนกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ และ สส.ก้าวไกลมีมติเมื่อ 28 ก.ย. ให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือหมออ๋อง ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนฯ ได้ต่อไป และหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ได้ ว่าเข้าข่ายกลฉ้อฉลหรือนิติกรรมอำพราง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า พฤติการณ์หรือการกระทำของพรรคก้าวไกล และนายปดิพัทธ์ ดังกล่าว อาจมีเจตนาที่จะทำเป็นกลฉ้อฉลหรือนิติกรรมอำพรางซึ่งเป็นโมฆียะกรรม อันขัดหรือแย้งต่ออุดมการณ์ของพรรคที่ได้จดทะเบียนไว้กับนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อ 23 มิ.ย. 63 ว่า จะยึดมั่นในหลักนิติรัฐและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้อย่างชัดเจน แต่กลับใช้วิธีการเยี่ยงนักการเมืองน้ำเน่า ที่มุ่งกอดรัดอำนาจหรือตำแหน่งที่ตนมีหรือที่จะมีไว้อย่างไม่ละอาย มิได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นแฟนคลับ (FC) จำนวนมากแต่อย่างใด
อีกทั้งกรณีดังกล่าวถูกสังคมตำหนิ ติเตียน และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจเป็นทฤษฎีสมคบคิดกันโดยมิได้ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และมิได้รักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ อันเป็นข้อห้ามตามหมวด 1 ของมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดตาม ม.219 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะไต่สวนและมีความเห็นได้โดยตรง
ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.มีความเห็นเป็นไปตามคำร้อง ก็จะต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาเอาผิดทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล (กก.บห.) ชุดใหม่ และ สส.ก้าวไกลที่มีมติเมื่อ 28 ก.ย. รวมทั้งนายปดิพัทธ์ด้วย และหากนายปดิพัทธ์ไปสังกัดพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองดังกล่าวก็จะถูกลากเข้าไปร่วมรับผิดด้วย ในฐานะตัวการร่วมในนิติกรรมอำพรางเหล่านี้
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่บทความเรื่อง "ก้าวถอยหลัง...ของก้าวไกล" ผ่านสื่อเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การมีมติพรรคให้ สส.ออกจากพรรคนั้น ต้องเป็นเรื่อง สส.ทำผิดร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรคจนอยู่ด้วยกันไม่ได้
"ข้อบังคับพรรคก้าวไกลก็เขียนข้อนี้ไว้ชัดมาก จะมามีมติให้ออกกันดื้อๆ ง่ายๆ เพียงเพื่อเปิดทางให้พรรคได้ตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้นายปดิพัทธ์ เองก็ยังเป็นคนก้าวไกลเหมือนเดิม เพียงแต่ใส่เสื้อพรรคอื่นทับลงไปบนเสื้อก้าวไกลอีกตัวหนึ่งเท่านั้นเอง"
ทั้งนี้ หากถามว่า ถ้าเล่นลวงโลกกันอย่างนี้ ใครจะจัดการให้ถูกต้องได้บ้างนั้น กลุ่มแรก คือ สส.ในสภาจำนวน 50 คน ยื่นเรื่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สส.นายปดิพัทธ์ ขาดสมาชิกภาพหรือไม่ เพราะพฤติการณ์จริงที่ทำไปคือการออกจากพรรคด้วยการลาออก ไม่ใช่ด้วยมติขับออกจากพรรคตามข้อบังคับ หรือกลุ่มสอง คือ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายใต้มติเห็นชอบของ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เองเช่นกันว่า สส.ปดิพัทธ์ ได้ลาออกจนสิ้นสมาชิกภาพแล้วหรือไม่
เมื่อถามว่า แล้วปล่อยให้กราบบังคมทูลเสนอหัวหน้าก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปก่อนหรือ นายแก้วสรรร กล่าวว่า เลขาฯ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ด้วยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจปฏิเสธไม่รับรู้รับรองมติก้าวไกล ที่ให้นายปดิพัทธ์ ออกจากพรรคโดยไม่มีเหตุขัดแย้งใดๆ ได้ เพราะตรงนี้ขัดข้อบังคับชัดแจ้ง แล้วก็รายงานนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ทราบ ทำแค่นี้การกราบบังคมทูลเพื่อแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่เกิดขึ้น ประโยชน์จากการทำผิดก็ไม่บรรลุ
ส่วนในที่สุด สส.ปดิพัทธ์ จะสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ ก็รอศาลตัดสินอีกที ส่วนที่มองว่าเรื่องนี้ผิดกันทั้งพรรค ทั้งคณะกรรมการบริหาร และ สส.นั้น น่าจะทำความชัดเจนด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องสมาชิกภาพ สส.ปดิพัทธ์ก่อน ถ้าเห็นเป็นความผิดชัดเจนแล้วก็ค่อยว่ากันอีกที