ก่อนการประชุมวุฒิสภาในช่วงหารือมี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลายคนทักท้วงการเดินหน้าทำโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและประชาชนระยะยาว พร้อมเสนอแนะให้ถอยโครงการดังกล่าว
นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. ได้ขอหารือต่อที่ประชุมฯ ว่า กรณีที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลนั้น ตนมองว่าเป็นโครงการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เนื่องจากไม่ชี้แจงรายละเอียด รวมถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ และยังสุ่มเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของรัฐ
นอกจากนั้นยังส่อขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจระยะเยาว อย่างไรก็ดี ตนทราบว่ารัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินรับโครงการดังกล่าวไปดำเนินการแทนโดยใช้เงินของธนาคารรวม 5.6 แสนล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยให้ภายหลัง ซึ่งได้พิจารณา พ.ร.บ.ธนาคารออมสินแล้ว การดำเนินการดังกล่าวจะต่อกฎหมายของธนาคารเช่นกัน
"ผมขอให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ หากจะทำเพราะได้หาเสียงไว้ควรพิจารณาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเงินการคลัง หากทำผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ แม้จะบอกว่าประชาชนต้องรับผิดชอบ แต่ผมมองว่าผู้รับผิดชอบคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะประธานวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมถึง ครม. ดูโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง ขอให้นำความเห็นผู้ที่คัดค้านไปปรับปรุงแก้ไข" นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้าน นายถวิล เปลี่ยนสี สว. กล่าวว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นนโยบายที่เป็นปัญหาและไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะ เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องกระตุ้นมากนัก ตนมองว่าควรเน้นเสถียรภาพมากกว่าการสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต ขณะนี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยท้วงติง ตนมองว่ารัฐบาลควรรับฟังเหตุผล
"รัฐบาลยืนยันทำโครงการ โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน ผมว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง หากสิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอที่รักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งกับคนไข้ไม่ได้ ประชาชนย่อมไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ผมเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องกล้าหาญและยอมรับสารภาพความจริงกับประชาชนว่าไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ แต่เป็นเรื่องดื้อรั้น ไม่มีเหตุผล ดังนั้นยังมีเวลาจะทบทวน ผมหวังนายกฯ จะรับฟังเสียงท้วงติง" นายถวิล กล่าว
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สว. กล่าวว่า สินทรัพย์หรือเงินดิจิทัลที่ใช้ตลาดเก็งกำไรทั่วโลกเป็นความเสี่ยง หากรัฐบาลจะเข้าไปรับประกันมูลค่าและนำเข้าสู่การซื้อขายเงินคริปโทฯ เพราะมีกรณีของบิทคอยน์ที่พบว่ามีมูลค่าขึ้นสูงสุด 6.9 หมื่นเหรียญสหรัฐ แต่วันนี้เหลือ 2.7 หมื่นเหรียญสหรัฐ และบิทคอยน์นั้นเชื่อว่าอยู่ในกกลุ่มของฟอกเงินของนักพนัน ผู้ค้าของเถื่อน หลบเลี่ยงภาษีทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรมองแค่ผลบวกอย่างเดียว ไม่ควรเอาประเทศไปเสี่ยงในวงการดังกล่าว
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะแจกเงินแบบเหวี่ยงแหทุกกลุ่ม เพราะเป็นนโยบายที่ไม่สร้างความเป็นธรรม และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ดังนั้นรัฐบาลควรจะทำคือ เน้นการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก รวมถึงเน้นการลงทุนภาครัฐ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
"นโยบายแจกเงินนั้นเป็นความเลื่อนลอยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นความคาดหวังเกินจริง การใช้จ่ายเงินของรัฐ แจก หรือ โอน จะมีมูลค่าต่ำกว่าตัวคูณในการลงทุนของภาครัฐ ดังนั้นผมขอให้รัฐบาลถอยโครงการนี้และนำเงินไปใช้ในทางที่เหมาะสมของประเทศต่อไป" นพ.เจตน์ กล่าว