นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นำคณะเข้าหารือกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นประธานฯ
นายนิกร กล่าวว่า การหารือกับ สว.เป็นครั้งแรกถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้อนุกรรมการฯ ต้องการรับฟังความเห็นที่กว้างขวาง โดยมีประเด็นที่ต้องการหารือกับ สว.คือ การร่วมตั้งคำถาม เพราะของ สว.ต้องถามเป็นการเฉพาะ ไม่เหมือนของประชาชน
"ทางคณะอนุฯ ต้องรอให้สภาเปิดสมัยประชุมก่อน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด โดยทางอนุฯ ตั้งใจว่าจะให้มีการระบุชื่อผู้ที่ตั้งคำถามว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือสมาชิกบางท่านอาจจะไม่เปิดเผยชื่อก็ได้ ต่อจากนั้นวันที่ 2 พ.ย.ทางคณะอนุฯ จะไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นจะสอบถามกับ สส.ทั้ง 500 คน เพื่อความเห็นในเรื่องดังกล่าว" นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวว่า อนุกรรมการฯ จะรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่างๆ โดยมีลำดับ คือ วันที่ 2 พ.ย.จะหารือกับ กมธ.พัฒนาการเมือง สภาฯ, วันที่ 8 พ.ย.หารือกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุเกิน 18 ปี, วันที่ 14 พ.ย.จะต้องพูดคุยกับพรรคการเมืองที่เห็นต่างคือพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไข รธน.โดยไม่แยกหมวด 1 หมวด 2 โดยตนได้คุยกับนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะไปคุยที่พรรคก้าวไกล, วันที่ 15 พ.ย.คณะอนุฯได้เชิญกลุ่มประชาชนจำนวน 14-15 กลุ่ม ประมาณ 80 คน ซึ่งมีทั้งกลุ่มไอลอว์ กลุ่มคนพิการ เป็นต้น โดยหารือกันที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาทำประชามติ, วันที่ 7 ธ.ค.ลงไปฟังความเห็นพี่น้องชาวมุสลิมและจังหวัดชายแดนภาคใต้
"การสรุปความเห็นจะทำในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.และคงได้ข้อสรุปจากคณะใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ และต้นปี 2567 ก็จะเสนอให้รัฐบาลได้" นายนิกร กล่าว
ด้านนายเสรี กล่าวว่า เชื่อว่าจะทำให้เป็นที่ยอมรับ และทำให้กระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติสามารถเดินหน้าลุล่วงไปได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นก็อยู่ที่สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป
"เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะแก้ไขต้องมีจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ตามการจะทำเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเห็นที่แตกต่างเป็นความเห็นที่จะต้องหาข้อยุติเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งคนที่มาทำเรื่องเหล่านี้ต้องเป็นที่ยอมรับ เป็นที่น่าเชื่อถือ" นายเสรี กล่าว
นายจเด็จ อินสว่าง ในฐานะรองประธาน กมธ. พัฒนาการเมืองฯ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.กำลังรับฟังความเห็นในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในมุมมองของตนมองว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากกังวลเรื่องอำนาจ สว.ชุดนี้ก็จะหมดวาระลงในเดือน พ.ค.67 แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้ ตรงกันข้ามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดการถกเถียง แสดงความเห็นต่าง ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งต่อคนในชาติ
หากมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมสภาฯ ตนจะรอดูว่าจะยังแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือแก้เป็นรายมาตรา ตนก็จะอภิปรายว่าในแต่ละมาตราที่จะแก้นั้นเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ หากแก้ทั้งฉบับตนก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วน สว.คนอื่นๆ ที่คิดเช่นเดียวกันกับตนก็มีค่อนสภาที่คิดแบบนี้
สำหรับท่าทีของ สว.หากยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ก็ต้องรอดูอีกที เพราะหมวด 1 และหมวด 2 มีกว่า 38 มาตรา ซึ่งหลีกเลี่ยงยาก มีหลายอย่างที่ควรคำนึงให้มาก