นายวุฒิสาร ตันไชย ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เปิดเผยว่า วันนี้ได้เชิญนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงแนวทางและขั้นตอนในการทำประชามติตามกรอบของกฎหมาย และเงื่อนเวลาในการจัดทำประชามติ การประเมินงบประมาณในการจัดทำ รวมไปถึงรูปแบบ เช่น การจัดทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้การทำประชามติง่ายขึ้น เนื่องจากการทำประชามติครั้งนี้อาจจะแตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไป เพราะไม่มีส่วนได้เสียตรงไปตรงมาต่อบุคคล ดังนั้นหากจะทำให้ง่ายขึ้นจะสามารถทำได้อย่างไร
นอกจากนี้จะมีการสอบถามถึงการตั้งคำถามประชามติ ซึ่งพบว่าการตั้งคำถามประชามติมีผลผูกพันกันกับคำถามหรือกับรัฐบาล หรือเป็นประชามติแบบปรึกษาหารือ เพราะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการสอบถามในเชิงหารือประชาชน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะเป็นคำถาม รวมไปถึงกรอบเวลาในการจะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในต้นปี 2568 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั้งประเทศ สามารถพ่วงการจัดทำประชามติได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาว่าจะทำได้หรือไม่ ขณะเดียวกันจะมีการออกแบบและกำหนดจำนวนครั้งในการทำประชามติภายใต้กรอบเวลาและข้อกฎหมายที่มีอยู่
นายวุฒิสาร ย้ำกรอบไทม์ไลน์การทำงานของอนุกรรมการฯ เป็นไปตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 วางไว้ที่ต้องได้ข้อสรุปแนวทางในการทำประชามติไปเสนอกรรมการชุดใหญ่ในเดือน ธ.ค.นี้ โดยคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะจะทำงานคู่ขนานกัน และจะมีการสอบถามนักกฎหมาย และผู้เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้คำตอบ
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง และวันที่ 15 พ.ย.นี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายแสวง กล่าวภายหลังชี้แจงแนวทางการทำประชามติต่อคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่า กกต. ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดทำประชามติ ส่วนการใช้งบประมาณนั้น วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด และจะสามารถอนุมัติได้ในช่วงไหน ซึ่ง กกต.จะต้องส่งเรื่องมาของบประมาณจากรัฐบาลก่อน
ส่วนการจัดทำประชามติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น เลขาธิการกกต. ระบุว่า ต้องรอดูรายละเอียดก่อน เพราะมีเงื่อนไขทางเทคนิคบางส่วน ซึ่งเห็นว่าสามารถทำได้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ให้พิจารณา โดยเฉพาะเรื่องความพร้อม ที่ไม่ใช่ความพร้อมของกกต. ซึ่งได้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดให้คณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว