นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กล่าวว่า ที่ประชุมฯ รับทราบรายงานความคืบหน้าหลายประเด็น ทั้งในส่วนของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว เหลือการรับฟังความเห็นอีก 2 ภาค คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากกลุ่มชาติพันธุ์ และภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา ที่จะรับฟังความเห็นจากชาวใต้และชาวมุสลิม และต้องรอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อสอบถามความเห็นจาก สว.และ สส. เมื่อรับฟังหมดแล้วถือว่าครบถ้วน จากนั้นอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ จะทำข้อสรุปและบันทึกความเห็นที่แตกต่าง เพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ
ขณะที่คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ยังมีความเห็นแตกต่างในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มีการนำข้อกฎหมายต่างๆ มาพิจารณาเพื่อดูว่าจะจัดทำประชามติอย่างไร และมีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุด และเป็นเครื่องมือไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทันสมัยขึ้น
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นควรให้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อมาให้ความชัดเจนในข้อกฎหมายอีกครั้ง และทำให้การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ เกิดความชัดเจน โดยในที่ประชุมยังหาหารือว่าการแก้ไขครั้งนี้ มีข้อเสนอว่าควรให้สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นเพื่อเสนอให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากเกิดกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกัน โดยมอบหมายให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่อยู่ในคณะกรรมการฯ ไปหารือกันในพรรคของตัวเอง โดยทั้งหมดนี้จะนำไปประมวลผล และคาดว่าคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้
ส่วนกรณีที่จะให้พรรคการเมือง เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะนำเสนอในประเด็นใดนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นความชัดเจนที่เกี่ยวกับการทำ เช่น ต้องทำได้กี่ครั้ง และสามารถทำร่วมกับกฎหมายการเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ และสามารถให้ประชาชนออกเสียงผ่านเครื่องมือสื่อสารได้หรือไม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะหารือในที่ประชุมสภาฯ ก่อน หากที่ประชุมตกลงกันได้ก็ดำเนินการต่อไป แต่หากมีความขัดแย้ง สภาฯ ก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรที่ให้คำปรึกษา จะรับพิจารณาในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นที่ปรึกษา แต่หากที่ประชุมสภามีความขัดแย้ง สภาฯ มีหน้าที่นำเสนอต่อศาลให้ตีความได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติ
ส่วนที่ประชุมจะมีข้อเสนอให้แก้กฏหมายประชามติหรือไม่ เนื่องจากมีกับดักสองชั้น เรื่องของเสียงของประชาชนที่จะมาลงประชามติ นายภูมิธรรม กล่าวว่า มีข้อสรุปให้ไปศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะโฆษกคณะกรรมการฯ เสนอว่า ยังมีกฎหมายที่สร้างความชัดเจนตรงนี้ได้ จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาไปพิจารณาด้วย เนื่องจากกฎหมายประชามติยังไม่เคยถูกนำมาใช้ จึงต้องไปศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนการที่มีเงื่อนไขเพิ่ม หากต้องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ จะกระทบกับไทม์ไลน์ที่วางไว้ว่าจะให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า คณะกรรมการฯ มีความมุ่งมั่นจะทำให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ว่า ทำไม่ได้ไม่มี มีแต่ทำอย่างไรจะทำให้ได้
"รัฐบาลตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อยากได้บรรยากาศและกติกาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้มากขึ้น แต่สุดท้าย หากเกิดปัญหาที่เป็นเรื่องจำเป็น และมีข้อจำกัดที่รับฟังได้ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจได้ แม้สังคมอาจจะเกิดความกังวลว่าเป็นการดึงเวลาให้เกิดความล่าช้า" นายภูมิธรรม ระบุ